ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ปริญสิริ (PRIN) ลงสู่ระดับ “BB+" จาก “BBB-" สะท้อนถึงผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนแอลง ในขณะที่ผลการดำเนินงานที่อ่อนแอของศูนย์การค้าชุมชน (Community Mall) ของบริษัทน่าจะยังคงกดดันผลการดำเนินงานของบริษัทต่อไป
พร้อมกันนี้ ทริสเรทติ้งยังยกเลิกเครดิตพินิจ “Developing" หรือ “ยังไม่ชัดเจน" ของบริษัทโดยเปลี่ยนเป็นแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" แทน หลังจากแผนของบริษัทที่จะซื้อกิจการของ บริษัท เคพีเอ็น โฮลดิ้ง จำกัด เลื่อนออกไป ทั้งนี้ อันดับเครดิตในปัจจุบันยังสะท้อนถึงผลงานของบริษัทที่เป็นที่ยอมรับในตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านจัดสรร รวมทั้งยังสะท้อนฐานรายได้ของบริษัทที่มีขนาดเล็ก และการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจศูนย์การค้าของบริษัทด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาผลการดำเนินงานไว้ได้ที่ระดับปัจจุบัน โดยอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้คาดว่าจะอยู่ในช่วง 6%-9% และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะอยู่ในช่วง 50%-60% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากผลการดำเนินงานของศูนย์การค้าชุมชนน่าจะยังคงเป็นภาระต่อผลการดำเนินงานของบริษัท อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงได้หากผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทลดต่ำลงจากระดับปัจจุบัน
บริษัทก่อตั้งในปี 2543 โดยกลุ่มตระกูลโกวิทจินดาชัยและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2548 กลุ่มตระกูลโกวิทจินดาชัยยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัทในสัดส่วน 41% ของหุ้นทั้งหมด ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2558 บริษัทเน้นพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบสำหรับกลุ่มลูกค้ารายได้ระดับปานกลางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 บริษัทมีโครงการเหลือขายจำนวน 27 โครงการมูลค่าประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยมากกว่าครึ่งเป็นโครงการบ้านเดี่ยวและบ้านแฝด ในขณะที่ 29% เป็นโครงการทาวน์เฮ้าส์ และ 16% เป็นโครงการคอนโดมิเนียม บริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้ที่มีขนาดเล็กประมาณ 280 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 คณะกรรมการของบริษัทได้อนุมัติการซื้อและรับโอนกิจการทั้งหมดของบริษัทเคพีเอ็น โฮลดิ้ง โดยธุรกรรมดังกล่าวมีมูลค่า 4,032 ล้านบาท บริษัทวางแผนจะจ่ายชำระการซื้อกิจการดังกล่าวจำนวนครึ่งหนึ่งด้วยการแลกหุ้นและอีกครึ่งหนึ่งด้วยเงินสดที่ได้จากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง การซื้อกิจการดังกล่าวน่าจะช่วยผสานพลังทางธุรกิจเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์แนวราบ ในขณะเดียวกัน การเพิ่มทุนจะช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทลงด้วย อย่างไรก็ตาม การซื้อกิจการดังกล่าวถูกเลื่อนออกไปและอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
รายได้ของบริษัทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ระหว่าง 2,000-3,000 ล้านบาท ลดลงจาก 4,000-5,000 ล้านบาทในช่วงปี 2551-2553 จากการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมที่ลดลง นอกจากนั้นบริษัทยังประสบปัญหางานก่อสร้างล่าช้าซึ่งเป็นเหตุสืบเนื่องมาจากปัญหาการบริหารงานขายและการก่อสร้างในบางโครงการ แต่ปัญหาดังกล่าวลดน้อยลงหลังจากที่บริษัทเปลี่ยนกลยุทธ์มาเป็นการขายบ้านสร้างเสร็จ โดยรายได้ของบริษัทในปี 2558 เพิ่มขึ้น 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 2,639 ล้านบาท ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 2,500-3,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดต่ำลงจากในอดีต โดยเฉพาะหลังจากที่บริษัทพัฒนาศูนย์การค้าชุมชนแห่งแรกในชื่อเพลินนารี่ มอลล์ โดยอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทลดลงจากประมาณ 14% ในช่วงปี 2551-2556 เป็นต่ำกว่า 10% ในช่วงปี 2557-2558 ค่าใช้จ่ายจากการขายและบริหารยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 500-600 ล้านบาทต่อปีในขณะที่รายได้ลดลงมาอยู่ที่ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี บริษัทยังได้รับผลกระทบจากการขาดทุนของศูนย์การค้าชุมชนที่เปิดดำเนินงานไปในเดือนตุลาคม 2557 โดยในปี 2558 ศูนย์การค้าชุมชนดังกล่าวขาดทุนสุทธิประมาณ 50 ล้านบาทหลังตัดรายการระหว่างกันกับบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของศูนย์การค้าชุมชนนี้จะยังคงสร้างภาระต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 6%-9% ในช่วงปี 2559-2561
โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงหลังการขยายธุรกิจ โดยนอกจากการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมากขึ้นแล้ว บริษัทยังลงทุนอีกประมาณ 900 ล้านบาทในศูนย์การค้าชุมชนในช่วงปี 2555-2557 ด้วย ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 44.8% ในปี 2555 เป็น 60% ในปี 2557 ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2558 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 58% ซึ่งเทียบเท่าอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนทุนที่ 1.4 เท่า ซึ่งจากข้อกำหนดทางการเงิน บริษัทต้องรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนทุนให้อยู่ที่ระดับไม่เกิน 2 เท่า อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ 50%-60% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
กระแสเงินสดของบริษัทลดต่ำลงจากความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงและระดับการก่อหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงมาอยู่ที่ต่ำกว่า 1 เท่าในช่วงปี 2557-2558 เมื่อเทียบกับประมาณ 3.5 เท่าในช่วงปี 2551-2556 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายที่ปรับปรุงดอกเบี้ยจ่ายที่ถือเป็นต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 1 เท่า อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 3% ในช่วงปี 2557-2558 เมื่อเทียบกับประมาณ 14.9% ในช่วงปี 2551-2556 บริษัทต้องไถ่ถอนหุ้นกู้จำนวน 500 ล้านบาทในเดือนกรกฎาคม 2559 ความสามารถในการทำกำไรที่อ่อนแอลงประกอบกับยอดขายรอการรับรู้รายได้ที่มีขนาดเล็กประมาณ 280 ล้านบาท ทำให้มีความกังวลต่อสภาพคล่องของบริษัท
ณ สิ้นปี 2558 บริษัทมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้ประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้สามารถเบิกถอนมาใช้เสริมสภาพคล่องได้ทันทีจำนวน 300-400 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินสดในมืออยู่อีกประมาณ 480 ล้านบาทด้วย