SENA คาดลงทุนอีก 3.5 พันลบ.เพิ่มผลิตโซลาร์,ส่ง"เสนา โซลาร์ฯ"เข้าตลาดหุ้นอย่างเร็วปี 60

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 17, 2016 16:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ (SENA) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนา โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอีก 3.5 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) และติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ครบ 100 เมกะวัตต์ (MW) ภายใน 3 ปี (ปี 59-61) จากปัจจุบันที่มีกว่า 30 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้จากธุรกิจโซลาร์เพิ่มเป็น 300-400 ล้านบาท/ปี จากปีนี้ที่คาดว่าจะทำได้ราว 200 ล้านบาท และรับรู้เป็นกำไรกว่า 10%

ขณะที่เตรียมนำห้นบริษัท เสนา โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นได้อย่างเร็วในปี 60 เพื่อรองรับการขยายงานในธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มโซลาร์รูฟท็อปที่ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ขณะที่การขยายงานโซลาร์ฟาร์มยังมีข้อจำกัด และยังจะเป็นการแยกธุรกิจระหว่างอสังหาริมทรัพย์ที่ดำเนินการโดย SENA และพลังงานให้มีความชัดเจนด้วย

"วันนี้ต้นทุนการผลิตไฟจากโซลาร์มันถึงจุดใกล้กับต้นทุนที่ซื้อไฟจากภาครัฐและจะเป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ความหมายคือว่าต้นทุนจากโซลาร์จะลดลง และต้นทุนจากฟอสซิลและซื้อไฟจากรัฐจะแพงขึ้นเรื่อยๆ เรามองว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจมาก และเหมือน CSR ในตัวตลอดเวลา ธุรกิจเสนา โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ทีทำยัง all in กับธุรกิจบ้านในแง่ที่ว่าเราติดให้กับบ้านทุกหลัง ตอนนี้หมู่บ้านเสนาดีเวลลอปเม้นท์ทุกที่ติดเต็มสตรีมหมด...โซลาร์ เป็น rising industry ขณะเดียวกันธุรกิจบ้านที่อยู่อาศัยติดโซลาร์ก็เป็น add on ที่เพิ่ม differentiate ได้ เพราะการขายบ้านแข่งขันสูงมาก"นางเกษรา กล่าว

นางเกษรา กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจโซลาร์ของ SENA มีการผลิตโซลาร์ฟาร์มในนามบริษัทร่วมทุนกับบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ในสัดส่วน 51% เพื่อทำโซลาร์ฟาร์ม 46.5 เมกะวัตต์ ปัจจุบันเดินเครื่องผลิตแล้ว ซึ่งจะรับรู้รายได้และกำไรเต็มปีในปีนี้ตามสัดส่วนการร่วมลงทุนที่มีกว่า 23 เมกะวัตต์, การผลิตโซลาร์รูฟท็อปขายไฟให้กับภาครัฐ 750 กิโลวัตต์บนหลังคาโกดังสุขุมวิท 50 ที่ดำเนินการโดยบริษัททั้ง 100% และธุรกิจให้บริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน,อาคาร ,สำนักงาน และโรงงาน รวมถึงงานบริการหลังการขาย ซึ่งเป็นการถือหุ้น 51% ภายใต้บริษัท เอท โซลาร์ จำกัด

ปัจจุบันธุรกิจของเอท โซลาร์ มีงานในมืออีก 4 โครงการในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวม 700-800 กิโลวัตต์ มูลค่าราว 28 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จในปีนี้ โครงการเหล่านี้ให้ผลตอบแทนการลงทุน (IRR) กว่า 10% และยังอยู่ระหว่างการเจรจางานอีกหลายโครงการ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป

สำหรับการขยายงานเพื่อให้มีกำลังการผลิตและการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มเป็น 100 เมกะวัตต์ใน 3 ปีนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นงานภายในประเทศ ขณะที่การศึกษาลงทุนพลังงานทดแทนในญี่ปุ่นต้องชะลอออกไปในช่วงนี้ เพราะมองโอกาสขยายงานในประเทศมีมากกว่า และให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า โดยเฉพาะในช่วงนี้บริษัทจะให้ความสำคัญกับงานโซลาร์รูฟท็อปเป็นอันดับต้นเมื่อเทียบกับงานโซลาร์ฟาร์ม

แม้บริษัทจะได้เข้าร่วมยื่นเสนอขายไฟฟ้าในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ) ระยะที่ 1 จำนวน 4 โครงการ รวม 20 เมกะวัตต์ก็ตาม แต่เบื้องต้นมองว่าโอกาสที่จะผ่านการคัดเลือกยังมีข้อจำกัด หลังโครงการที่ร่วมกับสหกรณ์นั้นไม่มีวัตถุประสงค์ตรงกับคุณสมบัติของโครงการ ขณะที่โครงการที่ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อาจยังติดขัดเรื่อง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะมีการปลดล็อกเพื่อเอื้อต่อการดำเนินการ แต่ก็มองว่าน่าจะยังมีความล่าช้าค่อนข้างมาก

นางเกษรา กล่าวว่า ขณะที่การขยายในส่วนของโซลาร์รูฟท็อปมีมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลอนุมัติโครงการนำร่องเปิดเสรีการผลิตไฟฟ้าบนหลังคาจำนวน 100 เมกะวัตต์ แม้จะไม่ได้เป็นโครงการเพื่อเสนอขายไฟฟ้าออกมาสู่ระบบก็ตาม แต่ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเปิดให้มีการขายไฟฟ้าออกมาสู่ระบบในอนาคต ซึ่งบริษัทก็จะให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการนำร่องดังกล่าวด้วย ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาของโครงการบ้านของ SENA เพื่อใช้ไฟฟ้าภายในบ้านในช่วงกลางวันอยู่แล้ว

"โครงการนำร่องเราก็อยากเป็นคนส่งเสริมเราก็จะเข้ายื่นด้วย แต่กรณีนี้ไม่ส่งผลต่อธุรกิจเพราะไม่ได้ขายไฟฟ้าออกมา แต่ก็เป็นการนำร่องเพื่อทดลองใช้ระบบ Net Metering ซึ่งหากประสบความสำเร็จในอนาคตรัฐบาลก็จะปิดเสรี ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อเราที่เราจะมีความพร้อมทำได้ทันที"นางเกษรา กล่าว

นางเกษรา กล่าวว่า งบลงทุนในธุรกิจโซลาร์ปีนี้จะอยู่ที่ราว 500 ล้านบาททั้งลงทุนในโซลาร์ฟาร์ม, โซลาร์รูฟท็อป และงานรับเหมา (EPC) ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยปัจจุบันรายได้ของ SENA มาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 80%, รายได้ประจำจากคอมมูนิตี้ มอลล์ ,โกดัง และสนามกอล์ฟ ราว 10% และรายได้จากธุรกิจโซลาร์ 10%

ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเปิดขาย 2 โครงการใหม่ ด้วยแนวคิด "SENA Solar Smart Village" ที่ถนนบรมราชชนนี-สาย 5 และรามอินทรา ซึ่งยอดขายในช่วงที่ผ่านมานับว่าทำได้ดีและได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ