สมาคม บลจ.ทำหนังสือขอความร่วมมือบอร์ด 4 บจ.รับผิดชอบหลังถูกลงโทษ,จี้ก.ล.ต.ปรับเกณฑ์ให้เท่าเทียม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 21, 2016 12:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ระบุว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษและปรับผู้บริหาร กรรมการ ในบริษัทจดทะเบียนไปล่าสุด 5 บริษัท ได้แก่ บมจ.เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (MLINK) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.เฟอร์รั่ม (FER), บมจ. ดับบลิวเอชเอ (WHA), บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI), บมจ.เอเซีย เมทัล (AMC), บมจ. สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) และใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL-W) ด้วยความผิดให้ข้อมูลเท็จ หรืออินไซเดอร์เทรดดิ้ง เมื่อวันพุธที่ 16 มีนาคม 2559 ไปแล้วนั้น

ทางสมาคมบริษัทจัดการลงทุน มิได้เพิกเฉยหรือปฏิบัติด้วยมาตรฐานที่ต่างกันกับกรณีอื่น โดยได้ใช้เวลาในการหาข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับกรณีที่เกิดแก่ทั้ง 5 บริษัทนี้ ซึ่งพบว่าใน 5 บริษัทนั้น มี 4 บริษัท ที่มีกรรมการกระทำความผิด (ส่วนกรณีบริษัท AMC ผู้กระทำผิดไม่ใช่กรรมการ) ซึ่งสมาคมฯ กำลังออกหนังสือขอความร่วมมือจากบริษัทต่างๆ เหล่านั้น ด้วยเนื้อหาที่ไม่ต่างจากที่ได้เคยปฏิบัติไปแล้ว เพื่อสร้างบรรทัดฐานเป็นแบบอย่างที่ดีของตลาดทุน

"การที่ยังไม่ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์นั้น เนื่องจากจะต้องได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนเสียก่อน และไม่ต้องการให้เนื้อหาที่ออกสื่อผิดเพี้ยนไป อันอาจก่อให้เกิดความคาดหวัง ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง"นางวรวรรณ ระบุ

นางวรวรรณ กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดเจนคือ ในการลงทุนของกองทุนนั้น กองทุนลงทุนในกิจการ ลงทุนในตัวบริษัท ไม่ได้ลงทุนในตัวบุคคลผู้บริหารหรือกรรมการ ดังนั้น หากผู้บริหารหรือกรรมการที่กระทำความผิดได้รับโทษและถอยห่างออกจากการทำหน้าที่แล้ว และบริษัทเหล่านั้นได้มีการแจ้งแนวทางแก้ไขเพื่อมิให้เกิดกรณีเช่นนั้นอีก ผู้จัดการกองทุนต่างๆ จะพิจารณาเองว่าบริษัทนั้นๆ มีความน่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจที่จะลงทุนต่อไปหรือไม่

ส่วนบริษัทที่ยังมิได้มีการปฏิบัติไปตามที่สมาคมฯ คาดหวัง เราก็จะดำเนินการไม่ต่างกับกรณีที่เคยเกิด ซึ่งถ้าผู้จัดการกองทุนเขาเห็นว่ายังเป็นกิจการที่ดี ก็คงไม่ขายออกไป แต่จะไปใช้สิทธิทวงถามในการประชุมผู้ถือหุ้น ด้วยความมุ่งหวังให้บริษัทมีการดำเนินการที่ถูกต้อง และเป็นกิจการที่น่าลงทุนต่อไป แต่หากผู้จัดการกองทุนรายใดเขาไม่ไว้วางใจในบริษัทนั้นๆ แล้ว ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารไปแล้วหรือไม่ ก็คงจะขายออกในจังหวะเวลาที่พิจารณาว่าเหมาะสม

นางวรวรรณ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง กล่าวว่า ในส่วนเฉพาะของ บลจ.บัวหลวง นั้น ได้ดำเนินการกันภายในตามมาตรฐานการกำกับดูแลของเรา โดยฝ่ายกำกับดูแลฯ ได้ขึ้นบัญชีบริษัทเหล่านั้นที่มีอยู่ใน Universe การลงทุนของเราให้เป็นหลักทรัพย์ต้องห้ามมิให้ซื้อเพิ่มตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2559 ไปแล้ว และหากบริษัทใดยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้บริหารและกรรมการที่กระทำผิด ยังไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ในเวลาอันควร ก็จะมีหนังสือจาก บลจ.บัวหลวง ไปยังประธานกรรมการของบริษัทที่เรามีการลงทุน

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ได้รับทราบมาว่า สำนักงาน ก.ล.ต. จะมีการประชุมคณะกรรมการในเดือนเมษายนนี้ โดยหนึ่งในวาระที่จะพิจารณาคือเรื่องการปรับปรุงเกณฑ์ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน เพราะมีการปฏิบัติที่แตกต่างและทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในปัจจุบัน

ในปัจจุบันนี้ ผู้บริหารหรือกรรมการที่ถูกเปรียบเทียบปรับตามความผิดไปแล้วนั้น ทางสำนักงาน ก.ล.ต.ไม่ได้ห้ามการทำหน้าที่ต่อ แต่ในกรณีเดียวกันนี้ถ้าเป็นผู้บริหารหรือเป็นกรรมการของบริษัทจดทะเบียนที่มีใบอนุญาตนายหน้า ค้า หรือจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน สำนักงาน ก.ล.ต.จะถือว่าเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน บุคคลเหล่านั้นจึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการหรือบุคคลากรในตลาดทุนได้เลยในช่วงระยะเวลาที่ กลต.กำหนด

แนวทางนี้ ทราบมาว่าทางสำนักงาน ก.ล.ต. เห็นว่าควรมีการปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งสมาคมฯ คาดหวังว่าจะพิจารณาให้มีการปฏิบัติที่เท่าเทียม และเหมาะสมกับระดับการกระทำความผิดของแต่ละกรณีด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ