คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) แถลงว่า บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ ในเครือ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ไม่ได้มาชำระเงินค่าใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 900 MHz ภายในเวลาที่กำหนด 16.30 น.วันนี้ ดังนั้น กทค.จะมีหารือแนวทางดำเนินการต่อจากนี้ในวันที่ 23 มี.ค.นี้ เพื่อนำเสนอทางออกหารือกับนายกรัฐมนตรีต่อไป
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นนี้ กทค.ยังคงย้ำมติเดิมที่ได้กำหนดแนวทางในเบื้องต้นหากมีการเปิดประมูลใหม่หากผู้ชนะประมูลไม่มาจ่ายค่าใบอนุญาต โดยจะใช้ราคาที่ JAS ชนะประมูลราว 7.5 หมื่นล้านบาทเป็นราคาเริ่มต้นประมูล และจะตัดสิทธิ JAS ในการเข้าประมูลอีกครั้ง แต่ไม่ตัดสิทธิรายอื่นที่เข้าประมูลครั้งก่อน
ส่วนการดำเนินการกับ JAS ในกรณีที่ไม่จ่ายเงินตามกำหนด ก็จะมีการยึดเงินค้ำประกัน 644 ล้านบาทที่เป็นเช็คเงินสดที่สามารถขึ้นเงินได้ทันที รวมทั้งจะเรียกค่าเสียหายจาก JAS ทั้งที่กำหนดไว้เดิมและอาจมีประกาศฉบับใหม่ นอกจากนั้น ยังจะทบทวนใบอนุญาตให้บริการอื่น ๆ ที่ JAS ได้รับจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้วย
พ.อ.เศรษฐพงศ์. มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. เปิดเผยว่า หลังเวลา 16.30 น.ของวันนี้ แจส โมบายฯ ไม่สามารถนำเงินมาชำระค่าประมูลคลื่น 900 MHz งวดแรกพร้อมแบงก์การันตี กทค.จะดำเนินการตามแนวทางตามที่ได้มีมติเมื่อ 3 ก.พ.59 โดยหากจะเปิดประมูลใหม่ราคาเริ่มต้นจะต้องไม่ต่ำกว่าราคาที่ผู้ชนะในครั้งที่แล้วที่ 75,654 ล้านบาท โดยจะไม่ตัดสิทธิ์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ที่เป็นผู้ชนะการประมูลครั้งทีแล้วและได้นำเงินมาชำระครบถ้วนในการเข้าประมูลใหม่ เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันมากราย
แต่หากไม่มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล กสทช.จะไม่นำคลื่นความถี่ 900 MHz มาประมูลครั้งที่สองในทันที แต่จะเก็บคลื่นความถี่ดังกล่าวไว้ก่อนไม่น้อยกว่า 1 ปี ภายใต้เงื่อนไขราคาเปิดประมูลใหม่ก็จะต้องไม่น้อยกว่าราคาที่ผู้ชนะการประมูลชนะครั้งที่แล้วเช่นกัน
ส่วน แจส โมบายฯ ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลที่ไม่นำเงินมาชำระตามกำหนดเวลา กสทช.จะริบเงินประกันการประมูลจำนวน 644 ล้านบาท ซึ่งเป็นเช็คเงินสด และยังจะต้องเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นตามกฎหมายหรือประกาศที่กำหนดไว้เพิ่มเติม ได้แก่ ค่าการจัดประมูล 4G ทั้งคลื่น 1800MHz และ คลื่น 900 MHz รวมจำนวน 164. ล้านบาท เป็นต้น และจะตรวจสอบคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกอบกิจการที่รับใบอนุญาตอื่น ๆ จาก กสทช.ทั้งกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
"ถือว่าเป็นครั้งแรกของไทยที่ผู้ชนะประมูลไม่สามารถนำเงินมาชำระได้ตามกำหนดเวลา และก็ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไหน"พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าว
ประธาน. กทค.กล่าวว่า ในวันพุธที่ 23. มี.ค.นี้จะมีการประชุม กทค.เพื่อวางแนวทางการประมูลรอบใหม่ และการลงโทษผู้ที่ไม่นำเงินมาชำระตามกำหนดเวลา จากนั้นจะรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ไขเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่วนจะมีข้อเสนอแนะอย่างไรขึ้นกับนายกรัฐมนตรี เพราะการที่ แจส โมบายฯไม่มาชำระเงินประมูลส่งผลเสียหายต่อรัฐ
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำนักงาน กสทช.จะรวบรวมความเสียหาย วิเคราะห์และประเมินมูลค่า รวมถึงค่าเสียโอกาสที่ประชาชนจะได้ใช้คลื่น 900. MHz ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาเพื่อความรอบคอบ และจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อการนี้และเสนอคณะกรรมการกทค.อนุมัติแต่งตั้งในวันที่ 23 มี.ค.นี้
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพร กรรมการ กทค. คาดว่า การเปิดประมูลคลื่น 900 MHz รอบใหม่จะทำได้อย่างเร็วใน 2 เดือนข้างหน้า แต่การเปิดประมูลครั้งใหม่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
"เราไม่ได้โกรธแจสฯ เราไม่ได้เกลียดแจสฯ เราไม่ได้รักแจสฯ แต่เมื่อแจสฯไม่มาจ่ายตามกำหนด เราก็ต้องทำตามกฎหมาย"นพ.ประวิทย์ กล่าว