นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือดีแทค กล่าวว่าบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มที่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ได้ยื่นจดหมายแสดงความคิดเห็นต่อการนำคลื่น 900MHz ชุดที่ 1 กลับมาประมูลใหม่ต่อการพิจารณาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้วในวันนี้ (22 มี.ค.)
ดีแทค ไตรเน็ต ขอสนับสนุน กสทช. ในการจัดประมูลคลื่น 900 MHz ชุดที่ 1 ใหม่ (Re-auction) ตามประกาศ กสทช. กฎการประมูลและเงื่อนไขการประมูลซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ด้วยการประมูลคลื่น 900 ชุดที่ 1 ใหม่เป็นการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการประมูลคลื่น 900 MHz คราวก่อน บริษัทฯ จึงเห็นว่าการประมูลคราวนี้ควรจำกัดไว้เฉพาะผู้ที่เข้าร่วมการประมูลที่เหลืออยู่จากการประมูลคลื่น 900 MHz คราวก่อนเท่านั้น
โดยผู้ที่ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งก่อน ไม่ควรมีสิทธิเข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้ เนื่องจากได้ครอบคลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 1 ใบอนุญาตไปแล้วตามกฎการประมูลที่อนุญาตให้ผู้ขอรับใบอนุญาตแต่ละรายมีสิทธิยื่นประมูลคลื่นความถี่ได้ไม่เกินหนึ่งชุดคลื่นความถี่ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคโดยไม่ให้ผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งผูกขาดครอบครองคลื่นความถี่ 900 MHz ทั้งหมดเพียงรายเดียว
นอกจากนี้ ราคาขั้นต่ำ (Reserve Price) ของการประมูลคลื่น 900 MHz ชุดที่ 1 ครั้งใหม่นี้ควรกำหนดที่ราคา 16,080 ล้านบาทเท่ากับการประมูลคลื่น 900 MHz คราวก่อน (ในกรณีที่ผู้เข้าร่วมประมูลมีจำนวนน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ราย) ซึ่งโดยวิธีนี้ จะเป็นการประมูลแข่งขันที่จะเป็นการกำหนดมูลค่าคลื่นความถี่ 900 MHz ชุดที่ 1 ที่แท้จริงและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ
อนึ่ง บมจ.ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แวล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เป็นผู้ชนะประมูลคลื่น 900 MHz ในชุดที่ 2
นอกจากนั้น ดีแทค ไตรเน็ต ขอเสนอให้ กสทช. จัดให้การรับฟังความเห็นสาธารณะเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียเป็นการทั่วไปด้วย โดยบริษัทยินดีให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมต่อกสทช.ในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่จะมีขึ้นเพื่อนำไปสู่การจัดการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ชุดที่ 1 (Re-auction) ด้วยความสำเร็จลุล่วงด้วยดีต่อไป
นายลาร์ส กล่าวว่า ดีแทคขอชื่นชม กสทช.ในการจัดการประมูลคลื่น 1800MHz และ 900MHz ที่ผ่านมาเพื่อให้มีแบนด์วิธตอบสนองความต้องการใช้งานดาต้าที่เพิ่มขึ้นสูงเป็นอย่างมาก การมีคลื่นความถี่บริการอย่างพอเพียงทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้ขยายประสิทธิภาพของบริการเพื่อรองรับการเติบโตได้ทุกภาคส่วน
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับว่าราคาคลื่นความถี่ทั้ง 1800 MHz และ 900 MHz ที่สูงมากจากการประมูลคราวที่แล้วจะมีผลกระทบต่อเนื่องต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระยะยาว นอกจากนี้ การที่ผู้ชนะการประมูลไม่สามารถชำระค่าคลื่นความถี่งวดแรกรวมทั้งไม่สามารถวางหนังสือค้ำประกันค่าคลื่นความถี่ต่อ กสทช.ได้ตามกำหนดนั้น อาจพิจารณาได้ว่าในการประมูลคลื่นความถี่ทั้ง 1800 MHz และ 900 MHz ได้เกิด“ความต้องการเทียม"ในการประมูลและเป็นปัจจัยหลักในการดันราคาการประมูลให้สูงเกินกว่าความต้องการที่แท้จริงของอุตสาหกรรม
ราคาการประมูลคลื่นความถี่ที่สูงเกินความคาดหมายได้ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ ในขณะที่รัฐได้รายได้จากการประมูลคลื่นจำนวนมาก แต่ผลด้านลบกลับเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอย่างมากโดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้บริโภคมีความกังวลต่อความสามารถในการให้บริการที่ต้นทุนที่สูงมาก นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเกิดความไม่มั่นใจในการลงทุน ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่งผลให้มูลค่าตลาด (Market Capitalization) ของบริษัทที่เข้าร่วมการประมูลทั้ง 4 รายซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยลดลงเป็นมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ภาระค่าคลื่นความถี่ในระดับดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการขยายโครงข่ายการพัฒนาบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้อาจจะกระทบต่อการนำไปสู่การสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และเป็นหลักสำคัญของความสำเร็จในการผลักดันนโยบายดิจิทัลไทยแลนด์ของรัฐบาล