บลจ.กสิกรฯ ออกกองตราสารหนี้เพิ่มทางเลือกพักเงิน เสนอขาย 23-29 มี.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 22, 2016 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า บลจ. กสิกรไทย จะเปิดเสนอขายกองทุนเปิดเค เอสเอฟ พลัส (K-SFPLUS) ในระหว่างวันที่ 23-29 มี.ค.59 เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการแหล่งพักเงินท่ามกลางภาวะผลตอบแทนในตลาดต่ำ แต่ต้องการโอกาสรับผลตอบแทนที่จูงใจ พร้อมทั้งยังมีสภาพคล่องสูงสามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ โดยกองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนตราสารหนี้ที่มีนโยบายลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนในการลงทุนต่างประเทศได้สูงสุดถึง 79%

พร้อมทั้งอาจลงทุนในตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Note) และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน ทั้งนี้กองทุนดังกล่าวมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน

"กองทุน K-SFPLUS เป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้นจากกองทุนในกลุ่มกองทุนตลาดเงิน และกองทุนตราสารหนี้ของบลจ.กสิกรไทย โดยความน่าสนใจของกองทุน K-SFPLUS อยู่ที่การออกแบบกองทุนมาเพื่อตอบสนองผู้ลงทุนที่ต้องการพักเงินยาวขึ้นเพื่อรอลงทุนในตราสารอื่นหรือเก็บเงินเพื่อเป้าหมายระยะสั้นตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป และคาดหวังโอกาสรับผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้นจากการลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศที่มีอายุเฉลี่ย (Duration) ประมาณ 6 เดือน-1 ปี รวมทั้งสามารถรับความผันผวนจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุยาวกว่าซึ่งอาจทำให้มีความผันผวนของ NAV แบบวันต่อวันอยู่บ้าง"นายชัชชัย กล่าว

นายชัชชัย กล่าวว่า ผู้จัดการกองทุนมุ่งหวังจะสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอ โดยพยายามบริหารให้อัตราผลตอบแทนไม่ติดลบในระยะเวลา 1 เดือน ทั้งนี้ กองทุน K-SFPLUS ยังคงมีสภาพคล่องสูง โดยผู้ลงทุนสามารถซื้อ-ขายได้ทุกวันทำการ และจะได้รับเงินค่าขายคืนในวันทำการถัดไป นอกจากนี้ผู้ลงทุนบุคคลธรรมดายังมีโอกาสรับผลตอบแทนเต็มที่โดยไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย

สำหรับมุมมองของบลจ. กสิกรไทย ต่อแนวโน้มดอกเบี้ยและแนวโน้มของผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้นั้น คาดว่าการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 23 มี.ค.นี้ จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.50% เพื่อรอประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ ที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้จากปัจจัยภายนอกประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา อาทิ การคงอัตราดอกเบี้ยของเฟดจากการประชุมรอบล่าสุด ผนวกกับการที่ธนาคารกลางใหญ่ๆ หลายแห่ง เช่น ญี่ปุ่นและยุโรป ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาแล้ว อาจเป็นปัจจัยกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นมองว่ากนง.เลือกที่จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบัน และเก็บทางเลือกของการลดดอกเบี้ยไว้ก่อน เพื่อใช้ในจังหวะที่จำเป็น ส่งผลให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยรวมถึงผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศน่าจะอยู่ในภาวะทรงตัวต่อเนื่องหรืออาจปรับตัวในทิศทางขาลง ดังนั้น การเลือกลงทุนกับกองทุนตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของตราสารหนี้ (Duration)ในพอร์ตยาวขึ้น และให้โอกาสรับผลตอบแทนที่น่าสนใจเพิ่มเติม แต่ยังคงมีสภาพคล่องที่ดีพร้อมรองรับการสับเปลี่ยนเงินลงทุนไปยังกองทุนอื่นในจังหวะที่เหมาะสม จึงถือเป็นทางเลือกที่เอื้อต่อผู้ลงทุนที่ยังคงต้องการแหล่งพักเงินในช่วงนี้เพื่อรอตัดสินใจลงทุนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ