AMATA มั่นใจมีปริมาณน้ำเพียงพอป้อนลูกค้านิคมฯได้ถึงสิ้นปีหากฝนทิ้งช่วงทั้งปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 23, 2016 11:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) กล่าวว่า บริษัทวางแผนเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤตภัยแล้งในปี 59 โดยมีความมั่นใจว่าหากฝนไม่ตกเลยในปีนี้นิคมอุตสาหกรรมของอมตะฯ จะมีปริมาณน้ำดิบเพียงพอรองรับการใช้ของโรงงานในนิคมฯได้ตลอดทั้งปี ขณะที่โรงงานในนิคมฯของอมตะมีอยู่เกือบ 1,000 โรงงาน คาดว่าจะมีความต้องการน้ำดิบประมาณ 31.7 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ อมตะฯ มีการลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำ การดูแลแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อเป็นการสร้างกลไกใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการพึ่งพาน้ำต้นทุน และน้ำจากแหล่งธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงการลงทุนเพื่อการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยเทคโนโลยีการรีไซเคิลน้ำ ระบบ รีเวอร์ส ออสโมสิส (Reverse Osmosis System:RO) ซึ่งเป็นระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ลดการใช้น้ำต้นทุนหรือลดปริมาณน้ำที่สำรองไว้ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มอมตะ มีบริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด มีหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำภายในนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่ง ได้แก่ นิคมฯ อมตะนคร จ.ชลบุรี และนิคมฯอมตะซิตี้ จ.ระยอง

“โดยปกติเรามีแผนสำรองน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ให้มากกว่าความต้องการใช้ของลูกค้าประมาณ 150% อยู่แล้ว นอกจากนี้ อมตะยังลงทุนนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาช่วยในการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจรเพื่อใช้รีไซเคิลน้ำ อาทิ ระบบอาร์โอ ลดการพึ่งพาน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการนำน้ำที่ใช้แล้วเกือบทั้งหมดมาบำบัดและนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เราสามารถใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด สามารถลดการใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติได้มาก ทำให้ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา นิคมฯอมตะไม่เคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ แม้แต่ในปี 48 ที่แล้งสุดในบริเวณภาคตะวันออกของไทย แต่อมตะฯยังมีน้ำเหลืออยู่เพื่อใช้งานได้เป็นเวลา 4-5 เดือน โดยปี 59 เราคาดการณ์ว่าโรงงานในนิคมฯของอมตะเกือบ 1,000 โรงงาน จะมีความต้องการน้ำดิบประมาณ 31.7 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น หากฝนไม่ตกเลยในปีนี้ อมตะฯจะยังมีน้ำใช้ได้ถึงสิ้นปี"นายวิบูลย์ กล่าว

ด้านนายชูชาติ สายถิ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะวอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า การลงทุนในระบบบริหารจัดการน้ำดังกล่าวแม้ว่าจะมีต้นทุนที่สูงมาก แต่ถือว่ามีความจำเป็นสำหรับธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงอมตะ ที่ต้องมีการลงทุนแหล่งน้ำที่เป็นของตนเอง เพราะการพึ่งพาแหล่งน้ำของรัฐ ยอมรับว่าปริมาณที่จะป้อนอุตสาหกรรมมีไม่เพียงพอตลอดทั้งปี ดังนั้น นิคมฯอมตะนครและนิคมฯอมตะซิตี้ ได้มีการบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างดี โดยเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝน หรือฤดูน้ำหลาก ซึ่งแน่นอนว่า มีปริมาณน้ำเกินความต้องการของภาคเกษตรและภาคประชาชน ในช่วงเวลาดังกล่าว

นอกจากนี้ อมตะฯได้มีการวางแผนล่วงหน้าในการบริหารจัดการน้ำในนิคมฯทั้ง 2 แห่ง อย่างคุ้มค่าและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมไปถึงการวิเคราะห์การใช้น้ำในอนาคต ซึ่งการเตรียมความพร้อมเหล่านี้ทำให้อมตะสามารถให้ความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนในนิคมฯอมตะทั้งสองแห่งได้ว่า จะไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ ขณะเดียวกันหากลูกค้าในนิคมฯตระหนักถึงความสำคัญและให้ความร่วมมือในการอุปโภคบริโภคน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้แหล่งน้ำที่มีอยู่นั้นเพียงพอต่อความต้องการใช้ได้อย่างแน่นอน

สำหรับเป้าหมายของการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากของทุกปี ส่งผลดีในแง่ของภาพรวม ทั้งของธุรกิจอมตะฯ และภาคประชาชน รวมไปถึงคุณภาพน้ำที่มีคุณสมบัติน้ำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้ ซึ่งปริมาณน้ำที่กักเก็บได้ในปัจจุบัน มีเพียงพอใช้ในโรงงาน 14-15 เดือน โดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำจากแหล่งธรรมชาติ และในกรณีทีประเทศไทยต้องประสบวิกฤติฝนทิ้งช่วงฝนไม่ตกทั้งปี

อย่างไรก็ตาม อมตะฯยืนยันว่าจะไม่มีการดึงน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในช่วงฤดูแล้งมาใช้โดยเด็ดขาด ภาคอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องแย่งน้ำจากภาคเกษตรกรรมเลยแม้แต่น้อย เนื่องด้วยปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด และน้ำในช่วงฤดูแล้งมักมีคุณภาพน้ำต่ำ ไม่สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมได้ เพราะปริมาณเกลือที่อยู่ในน้ำจะมีสัดส่วนที่สูงกว่าค่ามาตรฐานของน้ำใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันรวมจากทุกแหล่งน้ำภายใต้การบริหารจัดการของนิคมฯอมตะนครมีอยู่ประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นน้ำสำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่มีอยู่ 700 โรงงาน ประมาณ 7 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือในปริมาณ 26 ล้านลูกบาศก์เมตรทั้งปี ขณะที่นิคมฯอมตะซิตี้ ใช้วิธีการบริหารจัดการน้ำเช่นเดียวกับ นิคมฯอมตะนคร ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานอยู่ 300 โรงงาน มีปริมาณการใช้น้ำ 3 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็น 12 ล้านลูกบาศก์เมตรทั้งปี ส่วนการใช้น้ำของโรงไฟฟ้า พื้นที่สีเขียวทั้งรดน้ำต้นไม้และใช้ในสนามกอล์ฟ จะเป็นการใช้น้ำจากการรีไซเคิลน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ