นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และ กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า วันนี้ คณะกรรมการ กทค.จะพิจารณาแนวทางการจัดประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz รอบใหม่ หลังจาก บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ไม่ชำระเงินประมูลคลื่นย่าน 900 MHz งวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาทมาชำระภายในกำหนดเวลาเมื่อ 21 มี.ค.นี้
ทั้งนี้ การจะเปิดประมูลรอบใหม่ จะเป็นราคาเริ่มต้นที่ 7 หมื่นล้านบาทที่บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัดอยู่ในกลุ่มบมจ.โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือ ดีแทคเสนอราคาสุดท้าย หรือจะเริ่มราคาที่ 7.5 หมื่นล้านบาทที่แจส ชนะประมูลนั้นต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพราะมีหลายมูมมอง ซึ่งก็เห็นว่าหากตั้งราคา 7.5 หมื่นล้านบาทเป็นราคาที่ดีแทคไม่เอาอยู่แล้ว ถึงจะเปิดประมูลใหม่ก็ไม่มีรายได้เสนออยู่ดี ก็จะทำให้การค่าจัดประมูลรอบใหม่เสียเปล่า และถ้าเก็บคลื่นไว้อีก 1 ปี ก็จะเกิดความเสียหายมากขึ้น จึงต้องรับฟังความเห็นรอบด้านว่าควรกำหนดราคาที่เท่าไร
"ราคาเริ่มต้น ต้องยืนยันข้อมูลว่า เมื่อการประมูลในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง 4 รายเสนอราคาไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท เมื่อราคาตลาดเป็นอย่างนี้ จะมาประมูลตามราคาที่ดีแทคเสนอมาน่าจะทำไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย และถ้า กสทช.จัดประมูลคลื่นราคาต่ำเกินไปหรือ จะเป็นการลงโทษ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE)ที่ ชนะประมูลที่ราคา 7.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้มาชำระเงินแล้ว ซึ่งทำให้ทรูต้องแบกต้นทุนเพิ่มขึ้น ก็ไม่เป็นธรรมกับทรู"นพ.ประวิทย์ กล่าวผ่านรายการสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง
ดังนั้นการประมูลรอบใหม่ แจส ซึ่งเป็นผู้ทิ้งงาน ต้องถูกตัดสิทธิ ส่วนทรู ที่ได้คลื่น 900 MHz แล้ว สามารถเข้าร่วมประมูล เพราะเห็นว่าถ้า บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส และดีแทค ประมูลคลื่น 900 MHz รอบใหม่ได้ และได้ราคาประมูลต่ำกว่าที่ทรูประมูลได้ ก็จะทำให้ทรูมีต้นทุนสูงกว่ารายอื่น ดังนั้นถ้าทรูคิดว่าราคาต่ำไป ทรูต้องเข้ามาร่วมประมูล และถ้าทรูเห็นว่าราคาประมูลเป็นราคาใกลเคียงที่จะไม่ได้เกิดการเสียเปรียบก็หยุดประมูล ด้วยเหตุผลนี้จึงยังเห็นว่า ทรูควรเข้าร่วมประมูล เพื่อไม่ให้เกิดการกดราคาประมูลคลื่น 900MHz รอบใหม่ และเพื่อให้ราคาเกิดความเหมาะสม
ทั้งนี้ ทรู ประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHzได้ โดยจ่ายค่าประมูล 2 คลื่นรวมทั้งหมดกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว ในขณะที่ เอไอเอส ได้คลื่น 1800MHz จ่ายไปประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ส่วน ดีแทค ไม่ได้จ่ายค่าคลื่นใดๆเลย แทบจะเป็นไปได้ถ้าสู้อีกและทรูจะชนะอีก เพราะทรูเงินในกระเป๋าหมดไปพอสมควร ขณะที่ดีแทคยังมีทุนเต็มกระเป๋าถ้าประมูลไม่ได้เพราะไม่สู้ราคาก็กล่าวโทษทรูไม่ได้ เช่นเดียวกันเอไอเอส ถ้าไม่สู้ราคาก็ไปโทษทรูไม่ได้ แต่เชื่อว่าทรูคงไม่กล้าเสนอราคาสูง เพราะครั้งนี้ถ้าหนีไม่ทันตัวใครตัวมันแน่นอน เพราะถ้าทรูถือใบอนุญาตทั้ง 3 ใบ ราคาค่าคลื่นรวมกันกว่า เกือบ 2 แสนล้านบาท
กรรมการ กทค. กล่าวว่า การเปิดประมูลครั้งนี้ กสทช.จะเปิดกว้างทุกบริษัท แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ถ้าจัดประมูลเร็ว คงไม่มีบริษัทใหม่ตั้งบริษัททัน หรือหาพันธมิตรได้ทัน
นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า สมมติถ้ากสทช.ตั้งราคาประมูลเริ่มต้นที่ 7.5 หมื่นล้านบาทแล้วถ้าไม่มีเอกชนรายใดยื่นราคาแล้วให้ลดลงมาทีละสเต็บ แต่กสทช.ก็ต้องมีราคาในใจว่ารัฐจะไม่ยอมขายต่ำกว่านี้ แต่หากไม่มีรายใดยื่นราคาถึงที่ราคารัฐวางไว้ก็ต้องปิดการประมูล โดยราคาในใจที่ต้องการนั้นต้องนำราคาตลาดเมื่อเดือนธ.ค. 58 ที่เปิดประมูล มาเปรียบเทียบและวิเคราะห์สถานการณ์ในช่วงง 3 เดือนที่ผ่านมาหลังจากประมูลแล้ว ราคาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถ้าราคาลดลงก็ต้องยอมรับว่าลดลง แต่ต้องอธิบายได้ อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าทรูไม่ต้องการให้รายใดเข้ามาประมูลที่ 7.5 หมื่นล้านบาท หรือ 7.6 หมื่นล้านบาท แต่มีช่วงระดับราคาที่ยอมรับได้
"เราอยากให้การจัดประมูลให้เห็นชัดๆว่าจะต้องมีคนมารับใบอนุญาต อย่างที่เห็นการตั้งราคาประมูลที่ราคา 7.5 หมื่นล้านบาทมีโอกาสล้มเหลวสูงมาก ... ถ้าไม่มีใครเข้าประมูล ในทางสากลก็ต้องปรับราคาตั้งต้นลงมา เนื่องจากตลาดเห็นว่าราคาสูงไปดังนั้นเราต้องค่อยๆลดราคาลงมา จนกว่าจะมีผู้ประมูลได้ หรือจะเก็บคลื่นไว้ 1 ปี แล้วรอประมูลใหม่ แต่แนวทางนี้จะเกิดผลเสีย คาดการณ์ว่าราคาคลื่น 900MHz ราคาตกลง เพราะหลังจากนี้จะมีการประมูลคลื่นอื่น เช่น คลื่น 1800 MHz ที่ดีแทคจะหมดอายุสัญญาสัมปทาน จะทำให้ซัพลลายล้น จนราคาคลื่นตกลงเรื่องนี้จึงต้องพิจารณาให้ดี"นพ.ประวิทย์กล่าว
ทั้งนี้ ในทางเทคนิค คลื่น 900 MHz ชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ราคาควรต้องต่างกัน 3 พันล้านบาท เพราะชุดที่ 1 มีคลื่นรบกวน และต้องลงทุนเพิ่มอีก 3 พันล้านบาทเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ไม่ให้คลื่นรบกวน ราคาคลื่นควรอยู่ที่ 7.3 หมื่นล้านบาท แต่ราคาที่ แจส กับทรู เสนอผิดปกติ ความจริงคลื่นชุดที่ 1 ควรจบที่ 7.3 หมื่นล้านบาท แต่แจสดันราคาประมูลไปใกล้เคียงชุดที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติทางเทคนิค อย่างไรก็ดี เราไม่ได้จับมือเขาเคาะราคา เป็นเรื่องที่เขาตัดสินใจด้วยตัวเอง
การประมูลครั้งใหม่ กทค. มองว่า เนื่องจากการทิ้งงานโทษน้อยไป หรือคุ้มที่จะทิ้งงาน ดังนั้น อาจจะต้องเพิ่มเงินหลักประกันเพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมา ให้หลักประกันที่เป็นเช็คเงินสดเพียง 644 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของราคาเริ่มต้น ขณะที่เมื่อคราวประมูล 3G อยู่ที่ 10% หากมีการเพิ่มจำนวนหลักประกันเป็นประมาณ 2 พันล้านบาทก็จะไม่ทิ้งงาน จึงต้องปรับเกณฑ์การเข้าประมูล นอกจากนี้ต้องปรับราคาประมูลไม่ให้เกินกว่าราคาที่แท้จริง เพราะต้องยอมรับว่าการประมูล 4G คลื่น 900 MHz ดุเดือดกันมาก อาจจะต้องวิเคราะห์ว่าการออกแบบประมูลทำให้การแข่งขันดุเดือดเกินไปหรือไม่
กรณี แจส นั้น ทางธนาคารกรุงเทพออกมาระบุว่าแจสคุยวงเงินประกันที่ 4 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อประมูลจริงดันราคาสูงไปถึง 7.5 หมื่นล้านบาท แสดงว่าการออกแบบประมูลคลื่น 900MHz แม้จะมีผู้ให้ราคาประมูลสูง แต่ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงทิ้งงาน หรือทำได้ไม่กี่ปีก็ทิ้งหรือเลิก ซึ่งตรงนั้นเราต้องออกกฎเกณฑ์ที่จะไม่ให้เอกชนทิ้งงาน เพื่อทั้งประชาชนและรัฐได้ประโยชน์ รวมทั้งเอกชนก็ต้องทำธุรกิจได้ ผุ้บริโภคได้รับการบริการที่ดี
ส่วนการฟ้องร้องเอาผิดกับ แจส ก็ต้องมาพิจารณากัน และจนถึงขณะนี้ ทางแจส ยังไม่มีการติดต่อกลับมายัง กสทช. ขณะที่แจส ยอมรับการริบเงินประกัน จำนวน 644 ล้านบาทตามที่ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แต่กรณีแจสละทิ้งงาน ก่อให้เกิดความผูกพันเรื่องสัญญาและการละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นเป็นเรื่องปกติที่หน่วยงานของรัฐจะต้องฟ้องร้องค่าเสียหาย ได้แก่ ค่าจัดงานประมูลรอบใหม่ หรือ ต้องจ่ายส่วนต่างของราคาประมูลที่ลดลงเมื่อเทียบค่าประมูลครั้งที่แล้ว ซึ่งตรงนี้แจสต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ทิ้งงานเมื่อศาลตัดสิน
"ต้องยอมรับว่าเราไม่เคยคาดคิดว่าจะมีผู้ประมูลได้แล้วทิ้งงานในลักษณะนี้ และราคาประมูลที่สูงขึ้นเป็นราคาที่เอกชนผลักดันขึ้นไปพร้อมเพรียงกัน ทั้ง 4 ราย ซึ่งก็ไม่น่าเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ถ้าเป็นรายเดียวก็น่าสงสัย แต่สิ่งที่เห็นแม้แต่ดีแทคก็ยังยอมเสนอที่ 7 หมื่นล้านบาท เราจึงไม่คาดคิดว่าจะมีการทิ้งงานมาก่อน"
ทั้งนี้ การที่แจสระบุว่า พันธมิตรจีนไม่สามารถออกแบงก์การันตีได้ทันเวลาและ กสทช.ไม่ผ่อนปรนเวลา ในความเป็นจริง กรรมการ กทค.ไม่เคยรับทราบเรื่องนี้ และในทางประมูล กสทช.ได้ประกาศล่วงหน้า ทุกรายรู้กฎเกณฑ์เหมือนกัน ดังนั้น หากจะต้องมีการเจรจาพันธมิตร ควรจะเจรจาก่อนการประมูล ถ้าประมูลแล้วมาเจรจาภายใน 90 วันไม่มีทางทำทัน อย่างนี้เรียกว่าจับเสือมือเปล่า
อย่างไรก็ตาม กสทช.ไม่สามารถเข้าตรวจสอบข้อมูลหุ้นได้ ต้องขอความร่วมมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรพัย์(กลต.) และถ้าจะตราวจสอบสถาบันการเงินก็ต้องขอความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกรมคดีสอบสวนพิเศษ(ดีเอสไอ) ถ้าเราสงสัยว่ามีเรื่องทำไม่ชอบเพื่อเอกชน ควรตั้งทีมสืบสวนในเรื่องนี้ ทั้งนี้ การกล่าวอ้างว่ามีพันธมิตรจีน ซึ่งยังไม่มีหลักฐานชัดเจน แจสก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีการเจรจากันตั้งแต่เมื่อไร ได้วงเงินเท่าไร ถ้าตอบได้สังคมก็รับได้ แต่ไม่ใช่พูดลอยๆ ไม่เช่นนั้นเอกชนรายอื่นก็ลักไก่อย่างนี้ได้
"ผมสงสัยว่า ดีแทคถอยที่ 7 หมื่นล้านบาท แต่แจสทำไมยังดันราคาไปถึง 7.5 หมื่นล้านบาทโดยไม่มีคู่แข่ง ส่วนต่าง 5 พันล้านบาทมีเหตุผลหรือไม่อย่างไร ข้อมูลตรงนี้ต้องตรวจสอบอีกที แต่นี่เป็นรายงานเบื้องต้น และจากการศึกษาของผุ้เชียวชาญของเรา รายใหม่ไม่สามารถสู้ราคาคลื่นกับรายเก่าได้ เพราะรายเก่ามีลูกค้าเก่า มีโครงข่ายเก่า มีต้นทุนเก่า ทำไมแจสถึงสู้ชนะเอไอเอส และดีแทคได้ ตรงนี้ เป็นเรื่องผิดปกติในการประมูลคลื่น จริงๅ กสทช.ต้องสอบสวนตรงนี้ แต่ถ้าไปถึงราคาหุ้นต้องขอข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์"นพ.ประวิทย์ กล่าว