นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) คาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/59 จะบันทึกกำไรพิเศษจากการขายโรงไฟฟ้าประดู่เฒ่า และโรงไฟฟ้าเสาเถียรเอ ราว 100 ล้านบาท ขณะที่กำไรปกติจะดีขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนด้วย เนื่องจากจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าหงสา ยูนิต 3 ในลาวที่เปิดดำเนินการเมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลสงขลาไบโอแมส เต็มไตรมาส หลังจากเดินเครื่องผลิตเมื่อปลายปีที่แล้ว
ขณะเดียวกันบริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนในโครงการต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจะเข้าร่วมประมูลเสนอขายไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในแบบ Feed-in Tariff (FiT) ด้วยวิธีการแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding) ประเภทชีวมวล ในพื่นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา โดยจะเสนอ 3 โครงการ กำลังการผลิตรวมไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนแห่งละประมาณ 1,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลเตรียมจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอได้ในราวเดือน มิ.ย.59
นอกจากนี้บริษัทยังได้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการ และสหกรณ์ภาคการเกษตร (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ) จำนวน 6-7 โครงการ ซึ่งพบว่าผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นราว 3-4 โครงการเพื่อเข้าร่วมจับสลากเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าในโครงการดังกล่าวในเร็วๆนี้
สำหรับโครงการในต่างประเทศให้ความสนใจทั้งโครงการพลังงานลมในออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันมี 3 โครงการที่ได้รับการอนุมัติจากทางรัฐบาลแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างการผู้ซื้อไฟฟ้า หากได้ปริมาณและราคาที่เหมาะสมก็พร้อมจะเดินหน้าโครงการทันที นอกจากนี้ ยังมีโครงการพลังน้ำเซกอง 4 ในลาวที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้คาดว่าจะสรุปได้ภายในสิ้นปีนี้ และยังมีโครงการพลังน้ำอื่นๆในลาวอีก 2-3 แห่งด้วย ตลอดจนให้ความสนใจโครงการผลิตไฟฟ้าในเมียนมาร์ด้วย
นายภาสกร ดังสมัคร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ 2 ของ RATCH กล่าวว่า บริษัทยังให้ความสนใจที่จะเข้าประมูลซื้อหุ้นราว 30-40% ในโรงไฟฟ้าถ่านหินของ GN POWER ในฟิลิปปินส์ หลังจากมีที่ปรึกษาทางการเงินได้นำเสนอข้อมูลว่าผู้ถือหุ้นในโครงการบางส่วนอยากจะขายหุ้นออกมา
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นบริษัทยังเน้นการลงทุนในอินโดนีเซียเป็นหลักก่อน เนื่องจากจะเตรียมเข้าประมูลสร้างโรงไฟฟ้าในโครงการ Riua ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงขนาด 250 เมกะวัตต์ มูลค่ากว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ โดยจะร่วมทุนราว 49% กับพันธมิตรท้องถิ่นคือ MEDCO ที่จะถือหุ้นราว 51% โดยคาดว่าจะรู้ผลได้ใน 1-2 เดือนหลังจากการยื่นข้อเสนอ และหากได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ดำเนินการก็คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างราว 1 ปี
สำหรับโอกาสความร่วมมือกับบริษัท ไชน่า เจนเนอรัล นิวเคลียร์ เพาเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (CGN) ของจีน ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในภูมิภาคนั้น ขณะนี้ทาง CGN ให้ความสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดในประเทศไทยก่อน ซึ่งเบื้องต้นหากบริษัทสามารถได้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ก็อาจจะมีโอกาสชวนทาง CGN เข้ามาร่วมดำเนินการด้วย รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวด้วย