นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ากำไรสุทธิในปีนี้จะมากกว่ากว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 812.74 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทได้ปรับลดงบการตลาดลงเหลือไม่เกิน 12% ของยอดขายรวม จากปีก่อนที่ใช้งบการตลาดไป 14% ของยอดขายรวม อีกทั้งยังลดสัดส่วนการจ้างผู้ผลิตขวดรายอื่นลงเหลือ 0.5% จากปีก่อนอยู่ที่ 2.9% โดยหันมาใช้กำลังการผลิตในโรงงานของบริษัททั้ง 6 ไลน์การผลิตมากขึ้น ประกอบกับในปีนี้บริษัทวางแผนใช้กำลังการผลิตเพิ่มมากกว่าปีก่อนที่ระดับ 60% ของกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 1.2 พันล้านบขวดต่อปี โดยจะส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิในปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 14-15% จากปีก่อนที่ 12.79%
ส่วนยอดขายในปีนี้บริษัทตั้งเป้าเพิ่มเป็น 7.5 พันล้านบาท หรือเติบโต 18.30% จากปีก่อนที่มียอดขาย 6.35 พันล้านบาท โดยแบ่งยอดขายของชาเขียวพร้อมดื่ม“อิชิตัน"และน้ำจับเลี้ยง“เย็นเย็น"รวม 6.65 พันล้านบาท ส่วนยอดขายของไบเล่ 600 ล้านบาท และยอดส่งออก 250 ล้านบาท
นายตัน กล่าวว่า การเติบโตของยอดขายในปีนี้มาจากการเติบโตของตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศที่ประเมินว่าจะมีการเติบโต 5% จากมูลค่าตลาดรวมของชาพร้อมดื่มที่ 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 58 ซึ่งเป็นผลมาจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่มากระตุ้นยอดขายของผู้ผลิตแต่ละราย อีกทั้งขนาดบรรจุภัณฑ์ที่มีการปรับให้เล็กลงและมีราคาถูกลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 10 บาท ส่งผลให้ผู้บริโภคตัดสินซื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งช่วยส่งเสริมยอดขายในช่วงภาวะเศรษฐกิจยังชะลอตัว
“เรายังคาดว่ามาร์เก็ตแชร์ของอิชิตันยังเป็นอันดับ 1 ซึ่งปีก่อนมีมาร์เก็ตแชร์ 43.4% อันดับ 2 อยู่ที่ 35.9% เราก็พยายามรักษามาร์เก็ตแชร์ไว้ แต่เราก็จะไม่เน้นทำโปรโมชั่นที่เป็น Wide Nation ออกมาบ่อย ซึ่งปีนี้เราทำโปรโมชั่นใหญ่เพียงครั้งเดียว และก็ใช้งบลดลงเป็น 83 ล้านบาท จากปีก่อนที่ใช้ 120 ล้านบาท แต่โปรโมชั่นลดราคาอื่นๆ ในห้างร้านต่างๆ เราก้ยังทำอยู่เพื่อกระตุ้นยอดขาย เพราะตอนนี้ภาวะการแข่งขันก็ถือว่ารุนแรงพอสมควร"นายตัน กล่าว
สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ในปีนี้จะมีออกมามากกว่า 2 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งที่แน่นอนแล้วเป็นสินค้าใหม่ภายใต้แบรนด์ไบเล่ คือ ไบเล่ Fruit to go เจลลี่พร้อมดื่มผสมวิตามิน และน้ำผลไม้ไบเล่ 100% ซึ่งจะทยอยออกมาในช่วงไตรมาส 2/59 และไตรมาส 3/59 ตามลำดับ อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่รอการเปิดตัวที่จะแตกต่างๆจากผลิตภัณฑ์ที่บริษัทวางจำหน่ายอยู่ อย่างไรก็ตาม การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในช่วงแรกยังต้องใช้งบการตลาดสูงเพื่อสร้างความรู้จักในตัวสินค้าของผู้บริโภค ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นในปีนี้จะยังใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 34%
ด้านยอดขายของบริษัทร่วมทุนในประเทศอินโดนีเซียในปี 59 คาดว่าจะทำได้ใกล้เคียงเป้าหมายที่ 1 พันล้านบาท หลังจากโรงงานผลิตขวด OEM ของพันธมิตรที่สุราบายาก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรเสร็จสมบูรณ์ ประกอบกับบริษัทจะเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายชาพร้อมดื่มในอินดดนีเซียไปยังร้านค้าดั้งเดิม (Tradition Trade) จากปัจจุบันที่บริษัทวางขายสินค้าใน Modern Trade ในอินดดนีเซียครอบคลุม ซึ่งช่วยเพิ่มยอดขายให้เป็นไปตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ตามในปีนี้บริษัทจะยังรับรู้ผลขาดทุนของธุรกิจในอินโดนีเซียตามสัดส่วนการถือหุ้นเข้ามาอีกราว 70 ล้านบาท
นายตัน กล่าวถึงแผนจัดตั้งโรงงานผลิตในประเทศอินโดนีเซียว่า ปัจจุบันได้ทำสัญญามัดจำเพื่อซื้อที่ดินในกรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซียไว้แล้ว แต่รอความพร้อมในเรื่องของยอดขายที่ต้องทำให้ได้ถึงเป้าหมายที่ 1 พันล้านบาทก่อนจะเริ่มลงทุน โดยคาดว่าโรงงานผลิตในประเทศอินโดนีเซียจะใช้งบลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท