รมว.คมนาคม คาดเริ่มก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกทม.-โคราช ส.ค.-ก.ย.นี้, อาจเปิด PPP ระบบตัวรถไฟ-บริหารการเดินรถ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 25, 2016 13:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่าจากการประชุมหารือผู้นำของไทยและจีนเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ได้ปรับเส้นทางเป็นเส้นทาง กรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย จากกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และ แก่งคอย-มาบตาพุด โดยจะดำเนินการก่อสร้างช่วงแรกก่อน คือกรุงเทพฯ- แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กิโลเมตร (กม.) เป็นรถไฟความเร็วสูง 250 กม./ชม. ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (ม.) เพื่อรองรับผู้โดยสารซึ่งถือเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงครั้งแรกของไทย และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน ส.ค.หรือก.ย.59 เลื่อนจากเดิมที่โครงการนี้จะเริ่มก่อสร้างในเดือน พ.ค. 59 โดยฝ่ายไทยจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด แต่ใช้เทคโนโลยีจากจีน

"โครงการรถไฟไทย-จีนล่าสุดได้ปรับเส้นทาง แต่อยู่ในกรอบเดิม การประชุม 23 มีนาคม ที่ผ่านมา ผู้นำทั้งสองฝ่ายก็ตัดสินใจร่วมกันว่าเพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น ข้อสรุปในการหารือ รัฐบาลไทยยืนยันความร่วมมือของโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ที่ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 57 และอยากให้โครงการนี้เกิดเร็วที่สุด โดยฝ่ายไทยเห็นว่าเราจะทำช่วงแรกคือ กรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา ที่มีความพร้อมมากที่สุด"รมว.คมนาคม กล่าว

อย่างไรก็ตาม วงเงินลงทุนรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีตัวเลขแตกต่างกันโดยฝ่ายไทย ระบุตัวเลขลงทุน 1.7 แสนล้านบาท ขณะที่ข้อมูลของฝ่ายจีนระบตัวเลขลงทุน 1.9 แสนล้านบาท ฝ่ายไทยจึงขอให้ปรับราคาลงมาตามประมาณการวงเงินลงทุนของไทย โดยขอให้ตัดส่วนที่ไม่มีความจำเป็นออกไป

นายอาคม กล่าวว่า แหล่งเงินทุนจะพิจารณาจากจีนก่อน ซึ่งฝ่ายไทยขออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งก่อนหน้าทางจีนเสนอให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 2.5% ขณะที่ฝ่ายไทยต้องการอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% อย่างไรก็ตามได้มีการหารือกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลังที่ได้เข้าร่วมการประชุมด้วยว่าทางกระทรวงคลังมีขีดความสามารถที่จะหาเงินกู้ได้ ทั้งนี้อาจจะกู้ในประเทศ หรือระดมเงินผ่านกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ฉะนั้นหากฝ่ายจีนเสนอเงื่อนไขที่สูง ฝ่ายไทยก็จะพิจารณาแหล่งเงินกู้อื่น

"เรื่องแหล่งเงินได้คุยกับรมว.คลังแล้วซึ่งเข้าร่วมประชะมด้วยว่าเรามีขีดความสารถในการหาแหล่งเงินกู้...เงินลงทุนอาจพิจารณากู้จากจีนในราคามิตรภาพ เป็นราคาที่คำนึงถึงความสัมพันธ์ของไทยกับจีน เพราะฉะนั้นเงื่อนไขการกู้เงิน หรือแม้กระทั่งดอกเบี้ยก็ต้องขอว่าเป็นเงื่อนไขทางการเงินที่ดีที่สุด"นายอาคม กล่าว

ทั้งนี้จะมีการหารือคณะทำงานระหว่างฝ่ายไทยกับจีนในช่วงไม่เกินต้นเม.ย.นี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปวงเงินลงทุน ขณะเดียวกันก็จะสรุปการหาแหล่งเงินกู้ ให้แล้วเสร็จก่อนจะเริ่มงานก่อสร้าง

ทั้งนี้ การลงทุนงานโยธาจะเปิดให้ผู้รับเหมาไทยเข้าร่วม แต่บางช่วงเช่นพื้นที่ภูเขาก็ต้องใช้เทคโนโลยีของจีนเข้ามาช่วย ส่วนระบบอาณัติสัญญาณ ระบรถ และตัวรถจะมาจากจีน เพราะโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับรัฐ(G to G)

รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมจะพิจารณาให้งานระบบรถ ระบบอาณัติสัญญาณ และการเดินรถ เข้าไปเป็นรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนภาครัฐ (PPP) ซึ่งให้เอกชนลงทุน และให้สัญญาสัมปทาน หรืออาจจะให้เอกชนเป็นผู้บริหารเดินรถ ในรูปแบบ PPP นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่จะใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟ สถานีรถไฟ โดยจะให้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่ อาจจะจัดในรูปแบบ PPP

ส่วนที่เหลือเส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย ให้พิจารณาดำเนินการต่อไปเมื่อมีความพร้อม

ทั้งนี้การเชื่อมการเดินรถไฟต่อไปลาวและจีน รมว.คมนาคม กล่าวว่า เดิมโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีนเป็นรถไฟทางคู่แบบรางมาตรฐาน 1.435 ม. ที่แบ่งเป็น 4 ช่วง คือ กรุงเทพฯ-แก่งคอย, แก่งคอย-มาบตาพุด, แก่งคอย-นครราชสีมา และนครราชสีมา-หนองคาย ซึ่งประเมินมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านบาท จึงได้ปรับเส้นทางและเพื่อไม่ให้เป็นการลงทุนซ้ำซ้อน เพราะไทยก็มีแผนจะก่อสร้างรถไฟทางคู่ไปถึงหนองคาย และเปลี่ยนไปเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กม. ความเร็ว 250 กม./ชั่วโมง โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสาร 2 หมื่นคน/วัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ