ประธาน กทค.ยันรัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบกรณี JAS เบี้ยวค่าประมูลคลื่น 900 MHz

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 25, 2016 13:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (ประธาน กทค.) กล่าวว่า ตามที่ นายสุรพงษ์ โตวิจัยชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้ข่าวว่ารัฐมนตรีที่กำกับดูแล กสทช. และ กสทช. จะต้องรับผิดชอบต่อกรณีที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ไม่ชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz นั้น

กสทช.ขอเรียนชี้แจงดังต่อไปนี้

1. สำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่ต้องรับผิดชอบกรณีนี้ โดย กสทช.เป็นหน่วยงานที่จะต้องรายงานตรงต่อวุฒิสภา หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ทำหน้าที่แทนวุฒิสภาในปัจจุบัน

2. การประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวเป็นกรณีที่ กสทช. ได้ประกาศกฎเกณฑ์เงื่อนไขในการประมูลไว้แล้ว โดยผู้ที่เสนอราคาให้กับรัฐสูงสุดจะเป็นผู้ที่ชนะการประมูล และมีระยะเวลาของใบอนุญาต 15 ปี โดยภายใต้เงื่อนไขนั้นหากผู้ที่ชนะการประมูลไม่นำเงินมาชำระค่าประมูลตามเงื่อนไขดังกล่าว ตามกฎเกณฑ์การประมูลก็จะมีการริบเงินค่าประกันเพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และจะเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมในส่วนความเสียหายที่รัฐได้รับไม่ว่าจะเป็นกรณีที่จัดการประมูลใหม่และได้เงินค่าประมูลต่ำกว่าก็จะต้องเรียกร้องส่วนต่างนั้น รวมถึงค่าเสียโอกาสในกรณีที่ประชาชนหรือประเทศชาติได้ใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ช้าลง และจะมีการตรวจสอบข้อกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายว่าด้วยระเบียบพัสดุแห่งชาติ เป็นต้น

3. ขณะนี้สำนักงาน กสทช. ได้มีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ เป็นคณะทำงานเพื่อมาตรวจสอบตามข้อ 2. เรียบร้อยแล้ว โดยคณะทำงานดังกล่าวมีอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธานคณะทำงาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นผู้ทำงานเป็นต้น เพื่อที่จะทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

4. เพื่อให้การใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เป็นไปโดยก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติมากที่สุด สำนักงาน กสทช. จึงได้เร่งทำหลักเกณฑ์ที่จะให้มีการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวใหม่โดยเร็ว โดยขณะนี้ได้มีการกำหนดวันที่จะเคาะราคาประมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้วคาดว่าจะประมูลภายในปลายเดือน มิ.ย. 59

"การดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่ผ่านมา เป็นไปด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งหากผู้ชนะการประมูลไม่นำเงินมาชำระก็จะต้องมีการริบหลักประกัน รวมทั้งฟ้องร้องค่าเสียหายในส่วนต่างอื่นๆ ที่จะต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งแตกต่างกับโครงการประมูลของรัฐอื่นๆ ที่มีการทุจริตเกิดขึ้น โดยหน่วยงานของรัฐนั้นๆ ก็จะต้องสั่งการยกเลิกโครงการดังกล่าวเอง และจะต้องมีการเอาผิดกับผู้ดำเนินการโครงการดังกล่าวเพื่อที่จะเรียกร้องความเสียหายที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับรัฐกลับคืนมา แต่ไม่ใช่โครงการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ซึ่งเป็นการดำเนินการที่โปร่งใสและยุติธรรม"นายเศรษฐพงค์ กล่าว

พร้อมกันนี้ อยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหาแนวทางในการเรียกร้องความเสียหายจากบริษัทที่ไม่มาชำระเงินค่าประมูลไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการประมูล เพื่อนำค่าเสียหายที่ได้รับมานำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป

อนึ่ง การกำหนดวงเงินในการวางหลักประกันการประมูลสำนักงาน กสทช. ได้กำหนดไว้ที่ 5% ของมูลค่าคลื่นความถี่ที่ได้มีการประเมินมูลค่าไว้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในการดำเนินการ ไม่เป็นการกีดกันผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมการประมูล รวมทั้งยังเป็นไปตามระเบียบพัสดุแห่งชาติด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ