นายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีไอ อีเลคตริค (SCI) เปิดเผยว่า บริษัทคาดรายได้ปี 59 จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ จากปีก่อนมีรายได้ 2,116.84 ล้านบาท โดยการเติบโตของรายได้ปีนี้ส่วนใหญ่จะมาจากธุรกิจบริการรับเหมาติดตั้งระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงและระบบไฟฟ้าจำหน่าย
ปัจจุบัน บริษัทอยู่ระหว่างรองานรับเหมาขนาดใหญ่ในลาว ได้แก่ โครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้า ระยะที่ 2 (PDSR phase ll) มูลค่าราว 2,200-2,300 ล้านบาท และโครงการการรับเหมาติดตั้งระบบส่งไฟฟ้าแรงสูง ระยะทาง 250 กิโลเมตร มูลค่าราว 24,500-28,000 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการจะทยอยรับรู้รายได้ใน 4 ปี
สำหรับธุรกิจผลิตและจำหน่ายตู้สวิทช์บอร์ด รางเดินสายไฟและอุปกรณ์รองรับ ยอมรับว่าปีนี้อาจจะไม่มีการเติบโตหรืออาจชะลอตัว เนื่องจากงานที่ออกมาน้อยและการแข่งขันสูง ขณะที่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเสาไฟฟ้าแรงสูง เสาสื่อสารโทรคมนาคม และโครงสร้างเหล็กชุบกัลวาไนซ์และบริการชุบสังกะสี คาดว่าจะมีการเติบโตราว 5-10% ซึ่งปัจจุบันผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เริ่มมีแผนการลงทุนออกมาแล้ว คาดว่าปีนี้จะมีการขยายเสาสัญญาณทั้งหมด 5,000 สถานีฐาน
ปัจจุบัน บริษัทมีงานในมือ(Backlog) ประมาณ 1,100 ล้านบาท และคาดว่าจะได้งานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มอีก 500 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรญี่ปุ่นเข้ารับงานโครงการเสาส่ง 500 กิโลโวลต์ ในประเทศอินโดนีเซีย มูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการสั่งซื้อจากผู้รับเหมา
นอกจากนี้ บริษัทฯยังอยูระหว่างรองานจาก กฟผ.เพื่อรับงานเสาไฟฟ้าแรงสูงในส่วนของภาคใต้ มูลค่าราว 10,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯคาดหวังจะได้งานราว 30-40% หากได้รับงานแล้วบริษัทฯจะใช้ระยะเวลาในการรับรู้รายได้ตั้งปีนี้ไปถึงปี 60
"ปีนี้รายได้เราคงมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญหลัง เราคาดหวังจะมีรายได้จากงานรับเหมาจาก สปป.ลาว แต่ยังไม่สามารถคาดการได้ว่าจะเติบโตมากแค่ไหน เพราะปัจจุบันอยู่ระหว่างรอทางรัฐบาลอยู่ แต่อย่างไรก็ตามเราก็ให้ความมั่นใจว่าทั้ง 2 งานนี้เราได้แน่นอน"นายเกรียงไกร กล่าว
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัท ที ยูทิลิตี้ส์ จำกัด (TU) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท 40% และ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) 40% ร่วมกับกลุ่มบุคคลอื่นๆ 20% เพื่อทำธุรกิจสาธาณูปโภคพื้นฐานนั้น บริษัทมองเห็นศักยภาพของผู้ร่วมลงทุนว่าสามารถที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจพลังงานได้ โดย PF มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่จำหน่ายไปเป็นหลักหมื่นหลัง สามารถนำมาทำโครงการโซลาร์รูฟเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันยังมีที่ดินอีกหลายแห่งที่จะสามารถพัฒนาโครงการพลังงานไฟฟ้าทดแทน และโครงการเกี่ยวกับสาธารณูปโภค เช่น พัฒนาที่ดินให้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำในช่วงหน้าฝน และจำหน่ายในช่วงหน้าแล้ง ในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวที่มีความต้องการใช้น้ำสูง
นอกจากนี้ TU เองก็จะมองหาการขยายโครงการพลังงานทดแทนในต่างประเทศเพิ่มเติมด้วย ไม่ว่าจะเป็นในลาวที่บริษัทฯได้เข้าไปทำธุรกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงในเมียนมาร์ที่มีแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากระบบสายส่งมีประสิทธิภาพเพียงพอก็เชื่อว่าจะสามารถขยายไปได้
ในขณะเดียวกันบริษัทฯยังสามารถจำหน่ายสินค้าเข้าไปในโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆที่ทาง TU เข้าไปพัฒนาได้ด้วย เช่นตู้สวิทช์บอร์ด รางเดินสายไฟและอุปกรณ์รองรับ
นายเกรียงไกร กล่าวว่า การเติบโตของบริษัทฯในช่วงที่ผ่านมามาจากการรับงานโครงการเป็นส่วนใหญ่ ทำให้รายได้ผันผวนไปตามการรับรู้รายได้โครงการ ขณะที่การเข้าไปร่วมลงทุนใน TU นั้นมองว่าอนาคตจะเป็นการสร้างผลประกอบการให้มีเสถียรภาพ และมีรายได้เข้ามาสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของรายได้ เนื่องจากภาพรวมของธุรกิจตู้สวิทช์บอร์ด รางเดินสายไฟและอุปกรณ์ในอนาคตจะถดถอย หรืออาจจะไม่มีการเติบโต รวมถึงธุรกิจเสาสื่อสารโทรคมนาคมอาจจะไม่เติบโตมากนักในอีก 2-3 ปี ข้างหน้า ขณะที่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเสาไฟฟ้าแรงสูงคาดว่าจะเติบโตได้อีก 5-10 ปี
"จากศักยภาพการของบริษัท PF บริษัท SCI และผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้อีกมาก และเราจะมีการพัฒนาสาธารณูปโภค เพิ่มเติมด้วย ซึ่งเรามองเป็นการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในขณะเดียวกันเราก็จะสามารถจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนได้เพิ่มเติมด้วย ซึ่งในอนาคตเราก็คาดหวังว่า TU จะเติบโตเพียงพอที่จะสามารถเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้"นายเกรียงไกร กล่าว