สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (21 - 25 มีนาคม 2558) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 403,074.60 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 80,614.92 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 30% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้ว จะพบว่ากว่า 64% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 256,819 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (state Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 85,076 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 32,585 ล้านบาท หรือคิดเป็น 21% และ 8% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 1.2 ปี) LB206A (อายุ 4.3 ปี) และ LB21DA (อายุ 5.7 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 19,235 ล้านบาท 11,425 ล้านบาท และ 9,695 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) รุ่น PTTEP296A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 6,299 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด รุ่น AWN244B (AA+(tha)) มูลค่าการซื้อขาย 4,402 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) รุ่น BH21DA (A+) มูลค่าการซื้อขาย 1,723 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในตราสารระยะยาว โดยตราสารอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 3 bps. จาก 1.81% ในสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1.84% โดยในวันพุธที่ 23 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ พร้อมปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือเติบโต 3.1% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.5% เนื่องจากการส่งออกชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด ด้านปัจจัยต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) หลายรายออกมาส่งสัญญาณว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนหน้า จากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯ ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเพียง 6,000 ราย มาอยู่ที่ 265,000 ราย นับเป็นระดับต่ำกว่า 300,000 รายติดกันเป็นสัปดาห์ที่ 55 ส่วนเหตุระเบิดในประเทศเบลเยี่ยมเมื่อวันอังคารที่ 22 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ของไทยแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามตลาดยังคงติดตามรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการ-รวมภาคผลิตและบริการประจำเดือน มี.ค. ของสหรัฐฯ ซึ่งจะรายงานในวันจันทร์ โดยตัวเลขดังกล่าวหากออกมาดีกว่าคาด น่าจะตอกย้ำความมั่นใจของตลาดต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในการประชุม FOMC ในวันที่ 26-27 เม.ย. นี้
สัปดาห์ที่ผ่านมา (21 มี.ค. - 25 มี.ค. 59) มีกระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิ 16,091 ล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) 9,417 ล้านบาท และขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปี) 6,673 ล้านบาท
หมายเหตุ: อันดับเครดิต หมายถึง อันดับเครดิตของหุ้นกู้เฉพาะรุ่น หรือ อันดับเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้
ความเคลื่อนไหวในตลาดตราสารหนี้ไทย สัปดาห์นี้ สัปดาห์ก่อนหน้า เปลี่ยนแปลง สะสมตั้งแต่ต้นปี (21 - 25 มี.ค. 59) (14 - 18 มี.ค. 59) (%) (1 ม.ค. - 25 มี.ค. 59) มูลค่าการซื้อขาย แบบปกติ - Outright Trading (ล้านบาท) 403,074.60 572,482.14 -29.59% 5,702,398.96 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน (ล้านบาท) 80,614.92 114,496.43 -29.59% 96,650.83 ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Gross Price index) 114.54 114.53 0.01% ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (Corp Bond Gross Price index) 108.85 108.84 0.01% เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Yield Curve) --% ช่วงอายุของตราสารหนี้ 1 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี 10 ปี 15 ปี 30 ปี สัปดาห์นี้ (25 มี.ค. 59) 1.36 1.37 1.37 1.39 1.53 1.84 2.19 2.82 สัปดาห์ก่อนหน้า (18 มี.ค. 59) 1.37 1.36 1.36 1.39 1.53 1.81 2.17 2.85 เปลี่ยนแปลง (basis point) -1 1 1 0 0 3 2 -3