นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ ประธานคณะกรรมการสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา เปิดเผยในงานสัมมนา "SET Talk : Cambodia Investment and Business Opportunities" ว่า การค้าระหว่างประเทศไทย และกัมพูชามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมูลค่าการค้าขายระหว่างสองประเทศอยู่ที่ระดับ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ซึ่งแบ่งออกเป็นประเทศไทยส่งออกไปยังกัมพูชาราว 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี และกัมพูชาส่งออกมายังประเทศไทยมูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี และคาดว่าในปี 63 การซื้อขายระหว่างทั้ง 2 ประเทศนี้จะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี และคาดหวังว่าในอนาคตสัดส่วนการส่งออกของแต่ละประเทศจะอยู่ในสัดส่วนเท่ากันที่ 50% จากปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกไปยังประเทศกัมพูชาเป็นหลัก
สำหรับความสนใจของนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศกัมพูชานั้น มีทั้งในเรื่องของการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจการให้บริการ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการแปรรูปสินค้าเกษตร สำหรับนักลงทุนจากประเทศกัมพูชานั้นส่วนใหญ่มีความสนใจที่จะเข้ามาหาพันธมิตรเพื่อที่จะเข้าร่วมลงทุนทั้งในประเทศกัมพูชา และประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจสินเชื่อรายย่อย และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตจะเห็นบริษัทไทยและบริษัทในกัมพูชา ร่วมมือในการลงทุนและทำธุรกิจร่วมกันมากขึ้น
นายชนิตร กล่าวถึงมุมมองการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนามว่า กัมพูชามีความเหมาะสมที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของกฎหมาย การใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และเป็นประเทศมีขนาดใหญ่เพียงพอในการที่จะขยายกิจการขนาดใหญ่ ประกอบกับเป็นฐานการลงทุนที่สามารถส่งสินค้าไปอเมริกาและยุโรปได้สะดวก ในขณะเดียวกันปีนี้ประเทศไทย และประเทศกัมพูชา จะมีการเปิดด่านข้ามแดนอีก 4 แห่ง จากปัจจุบันมีทั้งหมด 6 แห่ง จะทำให้การค้าชายแดนเติบโตมากขึ้นอีก
ขณะที่ประเทศลาวนั้นมีขนาดค่อนข้างเล็ก และประชากรไม่มากนักการจะเข้าไปลงทุนค่อนข้างยาก ขณะที่ในเมียนมาร์ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องของกฎหมาย และชนกลุ่มน้อยค่อนข้างมาก ส่วนประเทศเวียดนามก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงอยู่
ด้านนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า วันนี้มีนักลงทุนจากประเทศกัมพูชาให้ความสนใจและเข้าร่วมงานกว่า 60 คน เพื่อจะต่อยอดการขยายธุรกิจระหว่างประเทศไทย และกัมพูชา โดยปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทย 36 แห่ง ที่ออกไปประกอบกิจการในต่างประเทศในปี 57 มีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 45% ของรายได้รวม โดยคาดว่าในปี 58 จะมีการเติบโตมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล และในอนาคตคาดว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะในหลายๆประเทศเศรษฐกิจมีการเติบโตมากกว่าประเทศไทย โดยเฉพาะประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการเติบโต