รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงานฯ นัดประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) นัดพิเศษ ครั้งที่ 3/2559 บ่ายวันนี้ เพื่อพิจารณาวาระเรื่องร่างประกาศหลักเกณฑ์การจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในชุดคลื่นความถี่ที่เหลืออยู่ ซึ่งเป็นเรื่องหลักที่สำคัญยิ่งและต้องเร่งดำเนินการ
วาระเรื่องร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่สำนักงาน กสทช. เตรียมนำเสนอเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เดิมที่ใช้ในการจัดประมูลคลื่นครั้งที่แล้วหลายประเด็น กล่าวคือมีการกำหนดราคาตั้งต้นการประมูลไว้ที่ราคา 75,654 ล้านบาท เท่ากับราคาที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ชนะประมูลก่อนที่จะทิ้งใบอนุญาตจนนำมาสู่การจัดประมูลใหม่
การเคาะราคาประมูลในแต่ละรอบจะเพิ่มขึ้น 161 ล้านบาท หรือประมาณ 1% ของมูลค่าคลื่นที่เคยประเมินไว้ 16,080 ล้านบาท พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลวางหลักประกันหรือแบงก์การันตีจำนวน 8,040 ล้านบาท หรือกึ่งหนึ่งของมูลค่าคลื่นที่เคยประเมิน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ชนะการประมูลคลื่นที่ได้ชำระเงินแล้วเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ด้วย ขณะที่ข้อกำหนดการชำระเงินยังให้แบ่งจ่ายเป็น 4 งวดเหมือนหลักเกณฑ์เดิม
นอกจากนี้ ยังเสนอให้กำหนดมาตรการลงโทษในกรณีที่ผู้ชนะการประมูลทิ้งสิทธิการได้รับใบอนุญาต โดยจะถูกริบหลักประกันการประมูลและต้องชำระค่าเสียหายเบื้องต้นเพิ่มเติม รวมทั้งขึ้นบัญชีดำซึ่งครอบคลุมทั้งผู้ชนะการประมูลและผู้ที่มีความเกี่ยวโยงกันในลักษณะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม การถือหุ้นไขว้ โดยจะไม่สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตใช้คลื่นและประกอบกิจการโทรคมนาคมได้ต่อไป จนกว่าคณะกรรมการจะพิจารณาเป็นอย่างอื่น
กรณีที่ผู้ชนะประมูลทิ้งใบอนุญาตนั้น กทค.จะให้สิทธิการได้รับใบอนุญาตแก่ผู้เข้าร่วมการประมูลที่เสนอราคาสุดท้ายที่ต่ำกว่าในลำดับถัดไปเป็นผู้ชนะการประมูลแทน แต่หากมีผู้เข้าร่วมการประมูลเพียง 1 รายก็ให้ดำเนินการประมูลตามกระบวนการต่อไป หากไม่มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล ร่างหลักเกณฑ์ระบุว่าคณะกรรมการสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกการประมูล และจะพิจารณากำหนดการประมูลครั้งต่อไปตามเหมาะสม
รายงานข่าวจาก กสทช.ระบุว่า ในการร่างหลักเกณฑ์เพื่อจัดประมูลใหม่นี้ มีข้อสังเกตว่า มีการกำหนดมาตรการลงโทษผู้ชนะการประมูลที่ทิ้งสิทธิการได้รับใบอนุญาตไว้ค่อนข้างเข้มงวด เพื่อป้องกันปัญหาซ้ำรอยอย่างเช่นในกรณีบริษัทแจสฯ แต่ก็มีข้อน่าห่วงใยว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงได้ นั่นคือการกำหนดราคาตั้งต้นการประมูลในราคาเดียวกันกับแจส โมบายฯ ชนะการประมูล และสูงกว่าราคาสุดท้ายที่ผู้เข้าร่วมประมูลครั้งที่แล้วทุกรายเสนอ ซึ่งอาจกลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ไม่มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล จนเป็นเหตุให้เกิดการชะลอการจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวออกไป ก็จะยิ่งสร้างความเสียหายให้กับทุกฝ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ประเทศต้องการพัฒนาบนฐานเศรษฐกิจดิจิตอล