นายสมชาย โล่ห์วิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ (TAE) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทจะพยายามรักษารายได้รวมปีนีไม่ให้ต่ำกว่าระดับ 2.6 พันล้านบาทในปีก่อน แม้ราคาขายเอทานอลอาจจะต่ำกว่าราคาเฉลี่ยในปีก่อนที่อยู่ในระดับ 24 บาท/ลิตร โดยราคาขายในปัจจุบันอยู่ที่ 22 บาท/ลิตร ลดลงเกือบ 10% เป็นไปในทิศทางเดียวกันราคาน้ำมันที่ปรับลดลง แต่บริษัทจะผลักดันปริมาณขายในปีนี้ให้เพิ่มขึ้นราว 10% จากระดับ 102 ล้านลิตรในปีก่อน มาอยู่ที่ 114-115 ล้านลิตร ก็จะช่วยประคองรายได้รวมในปีนี้ได้ "impact คือถ้าราคาน้ำมันลดลงเรื่อยๆ ก็กระทบเอทานอล และที่ผ่านมาอีกส่วนหนึ่งที่เราจำเป็นต้องปรับราคาลดลง เพราะเราปรับราคาสู้กับผู้ผลิตรายใหม่ที่เข้ามาแทรกตลาดซึ่งเกิดขึ้นแค่ชั่วขณะ ระยะสั้นเท่านั้น เพราะต้อง maintain ลูกค้าเดิมให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ปีนี้ก็ต้องพยายามรักษา EBITDA Margin ไม่ให้ต่ำกว่าปี 58 ที่ 16% ด้วย โดยการลดต้นทุนเพื่อไม่ให้กระทบกำไร แต่ถึงแม้เราจะปรับราคาลง แต่ราคาขายเราก็ยังสูงกว่าราคาตลาดอยู่ดี"นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มผลกำไรสุทธิในปีนี้ก็ต้องขึ้นกับราคาวัตถุดิบว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยวัตถุดิบหลัก คือ กากน้ำตาล (โมลาส) แม้ว่าปัจจุบันบริษัทได้ซื้อเตรียมไว้แล้วในสัดส่วน 80% สำหรับการใช้ผลิตเอทานอลในปีนี้ที่ระดับราคา 4,300 บาท/ตัน ลดลงจากราคาเฉลี่ยในปี 58 ที่ 4,800 ล้านบาท/ตัน แต่ส่วนที่เหลืออีก 20% ยังต้องไปซื้อเพิ่มเติมในช่วงปลายปี ซึ่งตามปกติราคาโมลาสช่วงปลายปีจะสูงกว่าต้นปี
"วัตถุดิบโมลาสตอนนี้เราซื้อและจ่ายเงินแล้วที่ราคา 4,300 บาท/ตัน แต่ไม่พอทั้งปี ต้องซื้ออีกปลายปี ซึ่งส่วนใหญ่ราคาจะปรับขึ้น ราคาเฉลี่ยวัตถุดิบขึ้นอยู่กับผลผลิตที่อาจลดลง แต่ที่ซื้อแล้วก็ 80% ส่วนต่างที่เหลืออีก 20% คงกระทบไม่มาก"นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวอีกว่า แนวโน้มรายได้ไตรมาส 1/59 น่าจะเป็นไปตามเป้า โดยปริมาณขายเอทานอลอยู่ที่ 18-19 ล้านลิตร ที่ระดับราคา 22 บาท/ลิตร ในไตรมาสนี้ไม่ได้มีการขายตัดราคา เพราะส่วนใหญ่ราคาขายของบริษัทจะสูงกว่าตลาดที่อยู่ระดับ 21.50 บาท แต่ยังต่ำกว่าราคาเฉลี่ยในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดหวังว่าหากรัฐบาลสามารถส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์เพื่อให้เกิดการใช้ E20 และ E85 เพิ่มขึ้นได้ตามแผนก็เชื่อว่าในอนาคตธุรกิจเอทานอลจะไปได้อีกไกล
สำหรับแผนการลงทุนในปีนี้ บริษัทตั้งงบไว้ราว 80-100 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร เพราะโรงงานแห่งที่ 1 ใช้งานมา 10 ปีแล้ว โดยปัจจุบันโรงงานผลิตเอทานอลของบริษัทตั้งอยู่ใน อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี มี 2 สายการผลิต คิดเป็นกำลังผลิตรวม 3.65 แสนลิตร/วัน หรือ 120 ล้านลิตร/ปี
ส่วนการลงทุนโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลที่มีกำลังผลิต 2 แสนลิตร/วันใน จ.กำแพงเพชร ที่บริษัทได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมศึกษาโครงการกับบริษัท กำแพงเพชร ไบโอ เอทานอล จำกัด (KBE) ในกลุ่มบริษัท แสงฟ้า กรุ๊ป ผู้นำในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรนั้น ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาซึ่งหากสรุปการทำโครงการก็คาดว่าจะก่อสร้างได้แล้วเสร็จปี 61 มูลค่าโครงการ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งจะจำหน่ายเอทานอลในประเทศเป็นหลัก
"เสิร์ฟดีมานด์ในประเทศที่จะเพิ่มขึ้นก่อน จากแผนกระทรวงพลังงาน ที่ตั้งเป้าดีมานด์เอทานอลในประเทศปี 61 จะเพิ่มขึ้นเป็น 5.4 ล้านลิตรต่อปี จากปัจจุบันความต้องการที่ 3.6 ล้านลิตรต่อปี ส่วนจะส่งออกหรือไม่ ก็มองอยู่เพียงแต่ราคาส่งออกต่ำกว่าราคาขายในประเทศเยอะ ก็น่าจะขายในประเทศมากกว่า"นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาธุรกิจขั้นปลายที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การผลิตแอลกอฮอล์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น หรือสารทำละลาย (โซลเว้นท์) ซึ่งตลาดมีความต้องการจำนวนมาก โดยจะผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก แต่เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะที่ไม่ดีนักก็อาจจะส่งผลต่อความต้องการใช้ในขณะนี้ โดยบริษัทก็แค่ศึกษาเตรียมความพร้อมไว้รองรับหากเศรษฐกิจฟื้นตัว คาดว่าผลสรุปน่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 200-300 ล้านบาทเพื่อใช้ปรับปรุงเครื่องจักรเท่านั้น
"อนาคตถ้าดีมานด์โตขึ้น การผลิตไม่ยากเย็น แค่ปรับปรุงเครื่องจักรบางตัวใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี ใช้เงินราว 200-300 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับว่าเราจะผลิตเกรดไหน"นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวถึงกระแสข่าวกองทุนสิงคโปร์จะเข้ามาลงทุนในหุ้นของบริษัทว่า กองทุนต่างประเทศส่วนใหญ่ที่จะเข้ามาลงทุนจะติดต่อผ่านทางโบรกเกอร์ หรือที่ปรึกษาทางการเงินมากกว่า ไม่ได้เข้ามาเจรจากับบริษัทโดยตรง