(เพิ่มเติม) BANPU คาดใช้เงินลงทุนราว 5 พันล้านเหรียญฯ รองรับขยายกำลังผลิตไฟฟ้าเป็น 4.3 พัน MW ในปี 68

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 1, 2016 18:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการร่วมลงทุนเป็นระดับ 4,300 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 68 จากปัจจุบันที่มีราว 1,800 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมดราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อขยายพอร์ตการสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจไฟฟ้าเป็นระดับ 40% จาก 30-35%ในขณะนี้ ส่วนธุรกิจถ่านหินจะยังคงรักษา EBITDA ไว้ที่ 60% จากปัจจุบันที่ 65-70%

สำหรับเงินลงทุน 5 พันล้านเหรียญสหรัฐดังกล่าวจะมาจากเงินกู้โครงการราว 75% และส่วนทุนอีกราว 25% โดยเป็นเงินลงทุนสำหรับเชื้อเพลิงหลักราว 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเชื้อเพลิงประเภทพลังงานทดแทนราว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เซึ่งเชื่อว่าการลงทุนดังกล่าวจะไม่เป็นภาระการลงทุนต่อบริษัทมากนัก ขณะที่แผนการเพิ่มทุนเพื่อระดมทุนราว 1.29 หมื่นล้านบาทนั้น เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับงบดุลของบริษัทรองรับการเติบโตได้ในอนาคต

“เรามีเป้าหมายปี 2025 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 4,300 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้ประมาณ 20% หรือราว 800 เมกะวัตต์จะเป็น renewables ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของโลก รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจะใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน 2 ปี ทำให้สามารถสร้างกระแสเงินสดเข้ามาได้เร็ว ซึ่งจะเป็นส่วนผสมที่เหมาะสมสำหรับการเติบโตของบริษัทในอนาคต"นางสมฤดี กล่าว

นางสมฤดี กล่าวอีกว่า บริษัทมองหาโอกาสการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยในไทยก็มองโอกาสลงทุนในกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ ,พลังงานลม ,ไบโอแมส รวมถึงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี , ในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง ให้ความสนใจกลุ่มพลังงานน้ำ รวมถึงโรงไฟฟ้าหลักทั้งถ่านหิน ขณะที่ในจีนและญี่ปุ่น สนใจในกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานหลักอื่นๆ

ขณะที่ปัจจุบันมีการลงทุนโรงไฟฟ้าใน 4 ประเทศ ได้แก่ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ในไทย ,โรงไฟฟ้าในจีน ซึ่งมีโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 3 แห่งที่เดินเครื่องแล้ว และยังถือหุ้น 30% ในโรงไฟฟ้าซานซี ลู่กวง ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปลายปี 60 ,โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 54 เมกะวัตต์ในญี่ปุ่น ที่ทยอยเดินเครื่องผลิตต่อเนื่องตั้งแต่ปี 58-61 และโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา ในลาว ซึ่งเดินเครื่องครบทุกยูนิตเมื่อเดือนมี.ค. ซึ่งคาดว่าจะสร้างกำไรราว 100-200 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี โดยบริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนการร่วมลงทุน 40% ในโรงไฟฟ้าดังกล่าว

นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนจะระดมทุนจากการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของบมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) ในราวปีนี้ หลังล่าสุดแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตามกระบวนการที่วางไว้แล้ว โดยคงเหลือเพียงรอระยะเวลาเสนอขายหุ้น IPO ในช่วงเวลาเหมาะสมซึ่งต้องพิจารณาตามสภาวะตามตลาด และทิศทางของเม็ดเงินไหลเข้าด้วย ซึ่งขณะนี้ยังมองว่าเงินทุนไหลเข้ายังไม่มากนัก โดยการระดมทุนดังกล่าวจะช่วยรองรับการขยายกำลังการผลิตและขยายพอร์ตการลงทุนให้ใหญ่ขึ้นตามเป้าหมายเป็นกว่า 4,000 เมกะวัตต์ในปี 63 และเพิ่มเป็น 4,300 เมกะวัตต์ในปี 68

นางสมฤดี กล่าวว่า สำหรับการลงทุนในธุรกิจถ่านหินนั้น บริษัท และบริษัท PT Indo Tambangraya Megah Tbk (ITM) ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย ยังคงมองหาโอกาสที่จะลงทุนนจังหวะที่สินทรัพย์ภาคอุตสาหกรรมถ่านหินยังมีราคาไม่สูง และเตรียมประเมินทางเลือกการลงทุนใหม่ๆ ที่จะช่วยต่อยอดจุดแข็งของบริษัท ด้วยนโยบายการดำเนินงานที่มุ่งเน้นเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ธุรกิจถ่านหินในปีนี้มีเป้าหมายปริมาณการขายถ่านหิน ทั้งแหล่งในอินโดนีเซีย ออสเตรเลียและจีน รวม 46.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 45.4 ล้านตันในปีที่แล้ว และคาดว่าราคาขายถ่านหินเฉลี่ยของบริษัทในปีนี้จะไม่แตกต่างจากปีที่แล้วที่อยู่ระดับ 55.53 เหรียญสหรัฐ/ตัน มากนัก หลังปัจจุบันปริมาณถ่านหินส่วนเกินเริ่มลดลงจากการควบคุมการผลิตมากขึ้นของทั้งจากรัฐบาลจีนและอินโดนีเซีย รวมถึงเหมืองถ่านหินที่มีต้นทุนการผลิตสูงก็ทยอยปิดตัวลง ขณะที่ความต้องการใช้ถ่านหินยังคงทรงตัวถึงเติบโตขึ้น ก็จะให้ปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ถ่านหินเข้าสู่สมดุลในอนาคต

พร้อมกันนี้บริษัทยังมีแผนที่จะลดต้นทุนการผลิตจากเหมืองถ่านหินลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้มีเป้าหมายจะลดต้นทุนการผลิตจากเหมืองในอินโดนีเซียลง 10% และลดต้นทุนการผลิตจากเหมืองในออสเตรเลียลง 5% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปีที่แล้ว สำหรับแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 59-63) ใช้เงินลงทุนประมาณ 554 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโรงไฟฟ้าหงสา ,การลงทุนในธุรกิจถ่านหิน 124 ล้านเหรียญสหรัฐ และลงทุนอื่นๆราว 30 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเงินลงทุนดังกล่าวไม่นับรวมการเข้าซื้อกิจการที่บริษัทยังคงมองหาการเข้าซื้อกิจการต่อเนื่อง ขณะที่ตามแผนลงทุน 5 ปีดังกล่าวจะเป็นเงินลงทุนในปีนี้ราว 390 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโรงไฟฟ้าหงสา ราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางสมฤดี กล่าวอีกว่า บริษัทยังได้เตรียมแผนระดมทุนเพื่อเสริมโครงสร้างทางการเงินให้แข็งแกร่งมากขึ้น ด้วยการเพิ่มทุนจดทะเบียนเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน และการให้ฟรีใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) แก่ผู้ถือหุ้นด้วย โดยคาดว่าจะระดมทุนได้ราว 1.29 หมื่นล้านบาท เพื่อลดภาระหนี้และเพิ่มความยืดหยุ่นในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างคล่องตัวเมื่อมีโอกาสการลงทุนที่เหมาะสมในอนาคต

“การเพิ่มทุนเพื่อนำเงินมาลดหนี้ก่อน ก็จะทำให้งบดุลแข็งแรง และการที่เรามีเครดิต rating อยู่ในระดับที่ดี ก็หมายถึงถ้าในอนาคตเราต้องการกู้เงิน ก็จะทำให้เรามีต้นทุนการเงินที่ลดลงด้วย"นางสมฤดี กล่าว

ปัจจุบันบริษัทมีภาระหนี้ราว 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะลดหนี้ลงได้ราว 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะมาจากเงินเพิ่มทุนในปีนี้ราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO ของ BPP ราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะช่วยลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยในปีนี้ลงด้วย โดยปัจจุบันบริษัทมีภาระคืนเงินกู้ราว 250-300 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่สร้างกระแสเงินสดได้ประมาณ 650-700 ล้านเหรียญสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ