สำหรับแหล่งที่มาของเงินทุนที่ใช้ในการปล่อยสินเชื่อ มาจากการออกหุ้นกู้, ตั๋วแลกเงิน และเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ โดยแบ่งเป็นเงินกู้ หรือตั๋วเงินระยะสั้น 50% และเงินกู้ หรือตั๋วเงินระยะยาว 50% ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังสามารถระดมทุนจากตลาดเงินได้อีกมาก เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ของบริษัทอยู่ในระดับ 1.31 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนแต่ประการใด
ส่วนปัญหาเรื่องภัยแล้ง อันเนื่องมาจากสภาพดิน ฟ้า อากาศ และมีผลทำให้น้ำในเขื่อนเหลือน้อยกว่าปกติจะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯหรือไม่นั้น นายชูชาติ เห็นว่าปัญหาภัยแล้งนั้น รัฐบาลได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร รับรู้มานานแล้ว และกลุ่มเกษตรกรได้มีการปรับตัวมาพอสมควร โดยการไม่ก่อหนี้ใหม่ และพยายามหาเงินมาคืนสำหรับหนี้ที่ยังค้างอยู่ และเกษตรกรได้เปลี่ยนอาชีพจากทำการเกษตร เป็นการย้ายเข้าไปทำงานก่อสร้างในเมือง ซึ่งรายได้ขั้นต่ำก็พอจะชำระเงินกู้ของบริษัทฯได้
สำหรับสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งรัฐบาลพยายามส่งเสริมให้บริษัทฯ เข้ามาช่วยกันปล่อยกู้ ในปี 2558 บริษัทฯได้ปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ กล่าวคือ ยอดรวมสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ทั้งประเทศจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่ามีจำนวน 150 ล้านบาท เป็นสินเชื่อที่บริษัทฯ ปล่อยเป็นจำนวน 130.2 ล้านบาท หรือ 86.8% ของยอดปล่อยทั้งประเทศ สำหรับในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายยอดปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์อยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท
นายชูชาติ กล่าวว่า แม้ในปีที่ผ่านมาจะมีปัจจัยลบเข้ามามีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหลายปัจจัย เช่น ปัญหาภัยแล้ง, ปัญหาผลผลิตที่ลดน้อยลง, ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ แต่ก็ไม่มีผลต่อการปล่อยสินเชื่อของบริษัทฯ แต่ประการใด โดยในปีที่ผ่านมายอดปล่อยสินเชื่อรวมทุกประเภทขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 62% และมีผลทำให้ยอดลูกหนี้คงเหลือเพิ่มขึ้น ประมาณ 70% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
“ในปีที่ผ่านมาเราตั้งเป้าหมายเติบโตมากกว่า 50% และเราสามารถทำงานได้บรรลุเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยลูกค้าที่เข้ามาขอสินเชื่อกระจายออกไปตามอาชีพต่างๆ เช่น กลุ่มเกษตรกร, กลุ่มลูกค้าโรงงาน, กลุ่มลูกค้ารายวัน, กลุ่มลูกจ้างรายเดือน และเจ้าของกิจการเล็กๆ น้อยๆ สำหรับในปี 2559 เราตั้งเป้าหมายการเติบโต 50% เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา"นายชูชาติ กล่าว
สำหรับ NPL ในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ยังคงรักษาระดับไว้อยู่ในเกณฑ์ 0.9% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในธุรกิจประเภทเดียวกัน โดยสำรองเพิ่มขึ้นเพียง 10.5 ล้านบาท และมีการตัดหนี้สูญเพียง 14.15 ล้านบาท จึงทำให้อัตราส่วนสำรองต่อหนี้เสีย อยู่ในระดับสูงถึง 287% โดยเป็นการสำรองตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยคำนึงถึงโอกาสสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น จึงไม่ต้องตั้งสำรองพิเศษแต่ประการใด