SCC ยืนยันเป้าสรุปโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ เวียดนามในกลางปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 4, 2016 10:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีซี เคมิคอลส์ ในเครือ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) คาดว่าแผนการลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในเวียดนาม ที่มีมูลค่าเบื้องต้นราว 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐนั้นจะสามารถสรุปได้ภายในกลางปีนี้ตามเป้าหมายเดิม หลังอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรใหม่เข้ามาทดแทนกลุ่ม Qatar Petroleum ขอถอนตัวการลงทุน 25% ในโครงการดังกล่าว รวมถึงแผนการเงินในการลงทุนด้วย เบื้องต้นคาดว่าพันธมิตรใหม่จะมีเพียงรายเดียวที่จะเข้ามาถือหุ้นแทนในสัดส่วนของกลุ่ม Qatar Petroleum จากปัจจุบันที่มีการเจรจามากกว่า 1 ราย และจะมีส่วนช่วยในการจัดหาแนฟทา ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตได้เช่นเดียวกับกลุ่ม Qatar Petroleum

"กำลังดูเรื่องผู้ถือหุ้นใหม่ เรา target ไว้กลางปีนี้ ที่บอกว่าดีเลย์ 6 เดือนตั้งแต่เดือนมกราฯ ก็ถึงมิถุนาฯ ก็เป็น target เดิม เปลี่ยนผู้ถือหุ้นไม่ง่ายนะ แต่เดี๋ยวคอยดู เป็นผู้ถือหุ้นที่มีความเหมาะสม ตอนนี้คุยกันมากกว่า 1 ราย แต่เราจะเลือกรายเดียว"นายชลณัฐ กล่าว

นายชลณัฐ กล่าวอีกว่า แผนลงทุนเบื้องต้นยังเหมือนเดิมที่จะใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตของโครงการ อย่างไรก็ตามหากยังไม่สามารถสรุปการลงทุนโครงการดังกล่าวได้ทันภายในกลางปีนี้ เชื่อว่าจะสามารถเจรจากับผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการเพื่อเลื่อนระยะเวลาดำเนินงานได้

อนึ่ง โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในเวียดนาม ดำเนินการภายใต้ชื่อโครงการ Long Son Petrochemicals ทางตอนใต้ ของประเทศเวียดนาม ล่าสุดได้ประมูลคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ แต่เมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว QPI Vietnam (QPIV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Qatar Petroleum International และเป็นผู้ถือหุ้น 25% ในโครงการได้แจ้งถอนตัวจากการร่วมลงทุน ทำให้เครือซิเมนต์ไทยต้องเร่งหาพันธมิตรใหม่เข้ามาทดแทนขณะที่สัญญาการรับเหมาก่อสร้างจะมีอายุถึงประมาณกลางปี 59 ซึ่งหากโครงการไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในกลางปีนี้ ก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องเปิดประมูลเพื่อหาผู้รับเหมาใหม่ต่อไป

สำหรับโครงการดังกล่าว เครือซิเมนต์ไทยถือหุ้นใหญ่ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 46% ขณะที่ PetroVietnam และ Vinachem ถือหุ้นร่วมกัน 29%

ส่วนการลงทุน 30% ในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ซึ่งเป็นผู้ผลิตโอเลฟินส์ และโพลีโอเลฟินส์ในอินโดนีเซียนั้น ล่าสุดได้มีการขยายกำลังการผลิตเอทิลีน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ขึ้นอีกราว 43% มาที่ราว 8.6 แสนตัน/ปี นั้นได้แล้วเสร็จเมื่อปลายปี 58 และเริ่มดำเนินการผลิตเมื่อต้นเดือนม.ค.ที่ผ่านมา นายชลณัฐ กล่าวว่า การจะขยายกำลังการผลิตปิโตรเคมีขั้นปลายต่อเนื่องหลังจากที่ได้ขยายกำลังการผลิตเอทิลีนแล้วเสร็จนั้น เป็นสิ่งที่คณะกรรมการของ CAP ต้องพิจารณากันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ