นายรัตน์ พานิชพันธ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารได้บรรลุข้อตกลงกับพันธมิตรไต้หวัน คือ CTBC Bank ในการออกและจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายแก่บุคคลในวงจำกัด (PP) ในราคาหุ้นละ 2.20 บาท คิดเป็นมูลค่า 1.66 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 35.6% ซึ่งเป็นสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับการถือหุ้นของ บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) และบมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์ (QH) ซึ่งถือหุ้นรวมกันเท่ากับ 35.6%
ทั้งนี้ภายหลังการซื้อหุ้นเพิ่มทุน CTBC Bank จะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร โดยจะมีกรรมการจาก CTBC Bank จำนวนเท่ากับกรรมการที่มาจาก LH และ QH ซึ่งจะมีผู้บริหารของ CTBC Bank เข้ามาอีก 3-4 คน เพื่อมาดูแลการทำธุรกิจด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคล (Wealth management) Digital Banking และ Trade Finance สำหรับการที่ CTBC Bank เข้าถือหุ้นใน LHBANK สัดส่วน 35.6% นั้น ทาง CTBC จะไม่มีการขายหุ้นออกมาภายใน 3 ปีนับจากวันที่ได้รับเงิน 1.66 หมื่นล้านบาท แต่ในอนาคตหากจะมีการขายหุ้นหรือซื้อหุ้นเพิ่มเติมก็เป็นเรื่องต้องพิจารณา ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ในขณะนี้ "การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้จะมีการทำ Due Diligence และการเจรจาเพื่อเข้าทำสัญญาจองซื้อหุ้น โดยการทำธุรกรรมดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุมัติจากแบงก์ชาติ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งคณะกรรมการกำกับดูแลสถาบันการเงินในไต้หวัน ซึ่งคาดว่ากระบวนการจะแล้วเสร็จไตรมาส 3/59 โดยคาดว่าจะมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในเดือนมิถุนายนนี้ จากก่อนหน้านี้วันที่ 25 เมษายนนี้จะเป็นการประชุมผู้ถือหุ้นทั่วไป"นายรัตน์ กล่าว ส่วนเป้าหมายของธนาคารยังคงเป้าหมายเดิม โดยยังคงเป้าการเติบโตสินเชื่อปีนี้อยู่ที่ 10-15% จะเน้นการเติบโตผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่ตั้งเป้าเติบโต 15-20% จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปีนี้ โดยปัจจุบันสัดส่วนสินเชื่อประกอบด้วย สินเชื่อขนาดใหญ่ 62% สินเชื่อรายย่อย 21% และสินเชื่อเอสเอ็มอี 19% โดยปีนี้สัดส่วนสินเชื่อรายใหญ่จะขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 63% รายย่อยลดลงเหลือ 20% และสินเชื่อเอสเอ็มอีลดลงเหลือ 17%
นางศศิธร พงศธร กรรมการผู้จัดการ LHBANK กล่าวเสริมว่า อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Teir-1) จากสิ้นปี 58 อยู่ที่ 10.2% แต่หลังจากพาร์ทเนอร์เข้ามาเงินกองทุนจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 21.3% โดยสามารถรองรับการขยายสินเชื่อได้อีกหลายเท่าตัว โดย 5 ปีข้างหน้า Tier-1 จะลดลงมาที่ 12% "ตอนนี้แผนธุรกิจเรายังเหมือนเดิม สินเชื่อยังเป็นไปตามเป้าหมายโดยเงินกองทุนเพิ่มขึ้นมาแตะ 21% คาดว่าเงินจะเข้ามาช่วงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งทำให้เราสามารถขยายสินเชื่อได้อย่างมาก แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า Tier-1 จะลดลงมาเหลือ 12% เป็นเรื่องปกติเพราะเรามีการขยายสินเชื่อที่มากขึ้นส่งผลให้เงินกองทุนลดลง"นางศศิธร กล่าว สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/58 และไตรมาส 4/58 ธนาคารคาดว่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่า เนื่องจากสินเชื่อรายใหญ่มีการขยายตัวและหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลดลง โดยทำให้ทั้งปีนี้ผลการดำเนินงานจะดีขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่ธนาคารมีกำไรสุทธิ 1.65 พันล้านบาท ในขณะที่มูลค่าสินทรัพย์สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 2.25 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 58 อยู่ที่ 1.98 แสนล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 15% "ผลงานไตรมาสแรกที่ผ่านมาก็คาดว่าจะดีกว่าทั้ง QoQ และ YoY เพราะสินเชื่อรายใหญ่มีการเติบโตที่ดี โดยหากโครงการรัฐเกิดขึ้นอย่างชัดเจนก็จะทำให้สินเชื่อเติบโตตามเป้าหมาย โดยตอนนี้มูลค่าสินทรัพย์ต่อไตรมาส ธนาคารตั้งเป้าไว้เติบโต 5-6 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้สิ้นปีนี้มูลค่าสินทรัพย์จะแตะ 2.25 แสนล้านบาท เป็นไปตามเป้าหมายที่เราวางไว้ ส่วนพาร์ทเนอร์ที่จะเข้ามาใหม่นั้นจะเข้ามาหนุนธุรกิจที่เรายังไม่เคยทำ ซึ่งอาจจะเห็นความชัดเจนทางด้านการเติบโตในช่วง 1-2 ปีจากนี้"นางศศิธรกล่าว