(เพิ่มเติม) GPSC คาดโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่น เริ่ม COD Q4/60, เล็งเข้าซื้อหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพอินโดฯ สรุป H1/59

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 4, 2016 18:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเติมชัย บุนนาค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) แกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของกลุ่ม ปตท. เปิดเผยถึงแผนการดำเนินการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เมืองอิชิโนเซกิ จังหวัด อิวาเตะ ทางตอนเหนือของ เกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การลงทุนของบริษัท อิชิโนเซกิ โซล่า พาวเวอร์ 1 จีเค ซึ่งบริษัท GPSC ถือหุ้น 99% นับเป็นโครงการแรกที่บริษัทฯ ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในฐานะแกนนำของกลุ่มปตท.นอกประเทศไทย และนอกกลุ่มประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ว่าขณะนี้ ความคืบหน้าของการดำเนินงาน ผู้รับเหมาได้เข้าไปก่อสร้างในโครงการ โดยการปรับหน้าดินพื้นที่เพื่อเตรียมการติดตั้งแผงโซล่าร์ ซึ่งงานปรับหน้าดินมีความก้าวหน้าไปกว่า 32% ซึ่งนับว่าเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ และคาดว่าจะสามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในไตรมาส 4 ปี 2560

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนโครงการแรกในญี่ปุ่น" ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อิชิโนเซกิ โซลาร์ เพาเวอร์ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 20.8 เมกะวัตต์ ซึ่งมูลค่าโครงการใช้เงินลงทุน 10,000 ล้านเยน หรือคิดเป็น 3,150 ล้านบาท ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 เยน เท่ากับ 0.315 บาท อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอเงินกู้ตามสัดส่วนเงินกู้ร้อยละ 80 ต่อ สัดส่วนของทุนที่ใช้ในโครงการ ร้อยละ 20 และคาดว่าจะลงนามสัญญาเงินกู้ได้ภายในเดือนเม.ย.นี้ คาดได้อัตราดอกเบี้ยต่ำราว 2%

ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินโครงการ ได้มีการจัดตั้ง บริษัท อิชิโนเชกิ โซล่า พาวเวอร์ 1 จีเค (Ichinoseki Solar Power 1 GK. หรือ ISP1) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ที่ดำเนินการธุรกิจพลังงานในประเทศญี่ปุ่นของ บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ที่ถือหุ้นอยู่ 99%

โครงการดังกล่าว จะใช้เทคโนโลยี Solar Photovoltaic Module แบบ Polycrystalline ของบริษัท Conergy จากประเทศเยอรมัน โดยจะติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนทั้งสิ้น 95,854 แผง บนพื้นที่โครงการ 560 ไร่ ซึ่งจะสามารถให้กำลังการผลิตไฟฟ้ากระแสสลับสูงสุด 20.8 เมกะวัตต์ตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี

โครงการดังกล่าว ได้มีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท Tohoku Electric Power ซึ่งเป็น บริษัทสาธารณูปโภคญี่ปุ่น ในอัตราค่าไฟฟ้าแบบ FIT 40 เยนต่อหน่วย หรือเทียบเท่า 12.6 บาทต่อหน่วย มีอายุสัญญา 20 ปี มีกำหนดการเริ่มขายไฟฟ้าในไตรมาส 4 ปี 2560 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถเข้ามาดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยเฉพาะโครงการที่ผลิตจากโซลาร์ เพื่อมาทดแทนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ ฟุกุชิมะ ที่หยุดเดินเครื่องหลังจากประสบภัยสึนามิ เมื่อปี 2554 ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้ายังมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและคาดว่าบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าหาโอกาสขยายการลงทุนในอนาคต

โดยล่าสุดอยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะสินทรัพย์ (due diligence) การเข้าไปซื้อหุ้นบางส่วนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังความร้อนใต้พิภพ ในอินโดนีเซีย คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นราว 200 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ภายในครึ่งแรกปีนี้

"ที่ seriously มีอันเดียว เราเข้าไปทำ due diligence equity ก็ประมาณ 200 เมกะวัตต์ เป็นหลายโปรเจครวมกัน ครึ่งแรกปีนี้ก็จะรู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไร"นายเติมชัย กล่าว

นายเติมชัย กล่าวว่า บริษัทยังให้ความสนใจโครงการโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ในอินโดนีเซียด้วย แต่การลงทุนในอินโดนีเซียจะต้องพิจารณาโครงการอย่างรอบคอบ

สำหรับการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในต่างประเทศ นอกจากอินโดนีเซียแล้ว ยังสนใจลงทุนโครงการในเมียนมาร์ โครงการพลังน้ำในลาวด้วย รวมถึงโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจไฟฟ้าในญี่ปุ่นด้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กลุ่มบมจ.ปตท.(PTT) มีประสบการณ์การลงทุนอยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ