(เพิ่มเติม) BCP ปรับลดงบลงทุนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตามแผน 6 ปี (58-63) ลง 3-4 พันลบ. โยกลงทุนโรงไฟฟ้าสีเขียวแทน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 5, 2016 17:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) กล่าวในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 ว่า ล่าสุดได้ปรับลดงบลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ตามแผน 6 ปี (ปี 58-63) ลง 3-4 พันล้านบาท และจะโยกเงินลงทุนดังกล่าวมาใช้ลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าสีเขียวแทน

โดยงบลงทุนของกลุ่มบริษัทตามแผน 6 ปียังคงระดับเดิมที่ระดับ 9 หมื่นล้านบาท แต่ในส่วนของธุรกิจ E&P จะลดลงมาเหลือราว 1.5 หมื่นล้านบาท จากเดิมราว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งงบส่วนใหญ่จะใช้ในการซื้อกิจการที่คาดว่าในปีนี้จะเห็นอย่างน้อย 1 ดีล สำหรับการลดงบลงทุนในธุรกิจนี้เนื่องจากเห็นว่าราคาน้ำมันที่ลดลงก็จะทำให้การใช้เงินซื้อกิจการลดลงด้วยเช่นกัน

"การลงทุนในธุรกิจ E&P บริษัทยังคงเฝ้าติดตามอย่างระมัดระวังหลังสถานการณ์ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ และลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง"

ขณะที่งบลงทุนสำหรับธุรกิจไฟฟ้าตามแผน 6 ปีก็จะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ระดับ 3 หมื่นล้านบาท หลังจากได้โยกงบลงทุนบางส่วนของ E&P เข้ามาเพิ่มเติม

ในส่วนของการผลิตปิโตรเลียมในแหล่ง Galoc ที่ฟิลิปปินส์ ในปีนี้คาดว่าจะผลิตลดลงเหลือ 2 ล้านบาร์เรล จาก 2.5 ล้านบาร์เรลในปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนของบางจากฯราว 1 ล้านบาร์เรล จาก 1.2 ล้านบาร์เรลในปีก่อน อย่างไรก็ตามการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งดังกล่าวสำหรับปีที่ผ่านมาสามารถทำกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นบวกได้ที่ระดับ 400-500 ล้านบาท โดยแหล่งดังกล่าวมีต้นทุนผลิตที่ราว 30-31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และตราบใดที่ราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในช่วง 39-40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็จะยังทำให้มี EBITDA เป็นบวกอยู่

"เรายังดูโอกาส เมื่อตลาดเปิดเสรีถ้าเราไปที่ต้นน้ำจะทำให้การหาวัตถุดิบมีความมั่นคงมากขึ้น เราก็เฝ้าดูอย่างระมัดระวังและพร้อมจะเข้าลงทุน...เราให้ความสำคัญกับแหล่งในเอเชียที่เราสามารถนำมาใช้ได้ เป็นน้ำมันเบา กำมะถันต่ำ และต้นทุนการผลิตต่ำ"นายชัยวัฒน์ กล่าว

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังให้ความสำคัญในการขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอาเซียน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ลม พลังความร้อนใต้พิภพ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะสินทรัพย์ (due diligence) บางแห่งซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่เบื้องต้นคาดว่าจะสรุปได้อย่างน้อย 1 ดีลในปีนี้

ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีเงินสดราว 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมการระดมทุนจากการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของบมจ.บีซีพีจี (BCPG) ซึ่งนับว่าบริษัทมีฐานะการเงินที่ค่อนข้างแข็งแรง

สำหรับการลงทุนในธุรกิจการตลาดนั้นมีแผนที่จะขยายสถานีบริการน้ำมันมาตรฐานอีก 200-300 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราวปีละ 2 พันล้านบาทตามแผน 6 ปี จากปัจจุบันที่มีสถานีบริการน้ำมัน 1,072 แห่ง โดยส่วนใหญ่ราว 600 แห่งเป็นของกลุ่มสหกรณ์ ส่วนราว 400 แห่งเป็นสถานีบริการมาตรฐาน

ขณะที่มีแผนจะเพิ่มสัดส่วน EBITDA ของธุรกิจนอนออยล์เป็น 30% ของธุรกิจการตลาดภายในปี 63 จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 10% โดยได้ศึกษาการทำธุรกิจที่หลาหลายต่อเนื่องทั้งกาแฟ ซูเปอร์มาร์เก็ตภายใต้แบนรด์ใหม่ ซึ่งกำลังวางโมเดลอยู่คาดว่าจะมีรายละเอียดในช่วงครึ่งหลังปีนี้

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับธุรกิจการกลั่นในปีนี้คงจะมีค่าการกลั่น (GRM) ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกจะไม่ดีเท่ากับปีที่แล้ว แต่ก็ไม่แย่มาก โดยในช่วงที่บริษัทได้ปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น 45 วันในช่วงก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ได้มีการเก็บสต็อกน้ำมันดีเซลในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และนำมาขายในช่วงนี้ทำให้มีกำไรจากการทำประกันความเสี่ยง (Hedging) ส่วนต่างราคาน้ำมันพอสมควร ขณะที่บริษัทวางนโยบายการทำ Hedging ส่วนต่างราคาน้ำมัน ไม่เกิน 30% ของกำลังการผลิต

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/59 มองว่าจะทำได้ดีกว่าเป้าหมาย แม้มีหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นทำให้การกลั่นน้ำมันเหลือเพียง 5.5 หมื่นบาร์เรล/วัน จากระดับปกติที่ราว 1.1 แสนบาร์เรล/วัน แต่เนื่องจากบริษัทมีกำไรจากการทำ Hedging ส่วนต่างราคาน้ำมัน และปริมาณขายน้ำมันที่เติบโตเข้ามาช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานได้ ขณะที่ค่าการตลาดน้ำมันอยู่ในระดับปกติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ