นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) กล่าวว่า บริษัทความสนใจตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นการผลิตแบตเตอรี่เพื่อใช้ในระบบสะสมพลังงาน (Energy Storage) จากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้สามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้น ก่อนขยายไปสู่ระบบแบตเตอรี่ในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle:EV) ในอนาคต โดยจะอยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัทและกลุ่มผู้ถือหุ้นในบริษัท 24M Technologies,Inc.(24M) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐที่ทำการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ ปัจจุบัน GPSC ร่วมถือหุ้นอยู่ราว 17%
"เราพัฒนาด้านแบตเตอรี่และตอนนี้เองบริษัทที่เราไปลงทุน ก็ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของบริษัทญี่ปุ่นหลายบริษัทในการนำเอาเทคโนโลยีที่มีนวัตกรรมใหม่ที่ต้องเรียกว่าเป็นเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ไปทดลองใช้ครั้งแรกในญี่ปุ่น... ถ้าเข้าสู่กระบวนการที่จะผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งเรามีความคาดหวังว่าภายในปี 2017 (ปี 2560) น่าจะมีโอกาสที่จะสามารถเริ่มกระบวนการผลิตในเชิงพาณิชย์"นายสุรงค์ กล่าว
นายสุรงค์ กล่าวว่า บริษัทได้รับมอบหมายจาก บมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ให้เป็นผู้ดูแลงานในกลุ่มอนาคต หรือ New-S-curve ใน 2-3 โครงการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การพัฒนาแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งขณะนี้บริษัทชั้นนำในต่างประเทศกลุ่ม EV car ได้นำแบตเตอรี่ของ 24M ไปทดลองใช้ และบางประเทศก็นำไปเป็นต้นแบบ
แม้ขณะนี้จะยังเร็วเกินไปที่จะเห็นภาพการผลิตเชิงพาณิชย์ แต่ก็คิดว่าในอนาคตจะเป็นโอกาสที่จะทำให้บริษัทเข้าสู่ธุรกิจนี้ เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ดังกล่าวสามารถทำให้การผลิตแบตเตอรี่เร็วขึ้นเกือบ 3 เท่าและมีต้นทุนการผลิตต่ำลงไปเกือบ 50% ขณะที่ มองว่าประเทศไทยนับว่ามีความพร้อมค่อนข้างสูงในการผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ดังกล่าว เพราะมีกลุ่มปตท.ให้การสนับสนุนโดยเฉพาะในด้านของวัตถุดิบ และบุคลากร
อย่างไรก็ตาม หากมีการลงทุนก็จะต้องมีความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้ถือหุ้นของ 24M ด้วย ซึ่งมีทั้งกลุ่มเคียวเซร่า กองทุนในสหรัฐ เป็นต้น อย่างไรก็ตามในระยะสั้น 24M มีแผนจะเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกราว 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งบริษัทก็จะเข้าไปเพิ่มทุนตามเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นราว 17% ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินเพิ่มทุนส่วนนี้ประมาณ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ
"เราบอกแล้วว่าเรากำลังจะเอาเทคโนโลยีนี้มาปรับปรุง เราจะเข้าสู่ที่เรียกว่า New-S-curve ของกลุ่มปตท.เรื่องการพัฒนาแบตเตอรี่ในประเทศเขตโซนร้อนที่มีความต้องการแบตเตอรี่สูง ตอนนี้เป็นยังเป็น lab plant อยู่เราคิดว่าเราจะดึงการผลิตมาอยู่ในที่เมืองไทย"นายสุรงค์ กล่าว
สำหรับ New-S-curve อีกส่วนหนึ่งที่บริษัทต้องเข้าไปดูแล คือ การพัฒนาของเสียให้เป็นพลังงาน (waste to energy) ซึ่งปตท.มอบหมายให้พัฒนาเรื่องการแปลงขยะมาเป็นพลังงานไฟฟ้า รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากไบโอแก๊สและไบโอแมส ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจรเพื่อผลิตไฟฟ้าร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เป็นโครงการขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 6-9 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ ปตท.ยังมอบหมายให้ GPSC ศึกษาโครงการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาการรีไซเคิลน้ำเสียให้เป็นน้ำดี แต่ยังคงมีประเด็นปัญหาในทางปฏิบัติ