นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) กล่าวถึงความคืบหน้าของแผนงานในปีนี้ว่า โครงการผลิตสาร Linear Alkyl Benzene (LAB) วัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและสารซักล้างนั้น ได้เดินเครื่องผลิตแล้วเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยเพิ่มค่าการกลั่น (GRM) ได้ราว 40-60 เซนต์/บาร์เรล
ทั้งนี้ โครงการผลิตสาร LAB มีมูลค่าลงทุนราว 400 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในช่วงปีแรกการผลิตอาจจะยังไม่เต็มที่ แต่คาดว่าหลังจากนั้นจะผลิตได้เต็มกำลังการผลิตที่ 1 แสนตัน/ปี มีลูกค้าสำคัญในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย
ขณะที่ความคืบหน้าการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 2 โครงการรวมกำลังผลิต 239 เมกะวัตต์ (MW) นั้น สามารถเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 1 โครงการเมื่อวันที่ 1 เม.ย. และอีก 1 โครงการจะเริ่ม COD ในเดือนมิ.ย. โดยทั้ง 2 โครงการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวม 180 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ราว 2 พันล้านบาท/ปี
อนึ่ง โรงไฟฟ้าดังกล่าวยังสามารถผลิตไอน้ำได้ 498 ตัน/ชั่วโมง ซึ่งจะนำมาใช้ในโรงกลั่น โรงงานปิโตรเคมี รวมถึงโรงงานผลิต LAB และโครงการอื่นๆที่จะขยายในอนาคต
สำหรับแนวโน้มธุรกิจในปีนี้เบื้องต้นคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขาดทุนสต็อกน้ำมัน (stock loss) น้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อัตรากำไร (มาร์จิ้น) มีแนวโน้มทรงตัวจากปีก่อน โดยมองส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินและน้ำมันดิบยังอยู่ระดับที่ดี จากความต้องการเบนซินที่มีอยู่สูง แต่ส่วนต่างราคาดีเซลและน้ำมันดิบจะแคบลง เนื่องจากจีนส่งออกดีเซลออกสู่ตลาดมากขึ้น
นายอธิคม คาดว่ากำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ซึ่งไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันในปีนี้จะดีกว่าระดับ 9.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยมองในช่วงครึ่งปีแรกยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ขณะที่ทั้งปีจะได้ประโยชน์จากมาร์จิ้นที่ดีของธุรกิจอะโรเมติกส์ และการเริ่มผลิตของสาร LAB รวมถึงการ COD โรงไฟฟ้า SPP อีก 2 แห่งในปีนี้ก็จะช่วยเพิ่มมาร์จิ้นขึ้นด้วย แม้ว่ามาร์จิ้นธุรกิจโรงกลั่นจะไม่สดใสนัก
ส่วนในไตรมาส 1/59 คาดว่าจะมี GIM ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันที่ระดับ 6-7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากระดับ 8.9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากมาร์จิ้นของธุรกิจโรงกลั่นอ่อนแอ หลังส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบอ่อนตัวลง โดยเฉพาะส่วนต่างผลิตภัณฑ์ดีเซลลดลงมาอยู่ที่ราว 8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับกว่า 10 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีที่แล้ว ขณะที่ส่วนต่างผลิตภัณฑ์เบนซินอยู่ที่ราว 16-17 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แม้จะลดลงบ้างจากปีที่แล้วแต่ก็ยังนับว่าอยู่ในระดับที่ดี ขณะที่โรงกลั่นของบริษัทผลิตน้ำมันเบนซินได้ในสัดส่วนราว 25% และมีสัดส่วนการผลิตน้ำมันดีเซลมากสุดราว 40%
นายอธิคม กล่าวด้วยว่า บริษัทเพิ่มงบลงทุนช่วง 3 ปี (ปี 59-61) เป็น 350 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมที่ 244 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังมีแผนจะขยายท่าเรือเพิ่มอีก 2 แห่งที่ท่าเรือ 7 และ 8 จากปัจจุบันมีอยู่ 6 ท่า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเรือขนาดใหญ่ระดับ 8 หมื่นตัน จากปัจจุบันที่รองรับได้ระดับ 5 พันตัน รองรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ยังมีเงินลงทุนคงค้างสำหรับโครงการ LAB และโรงไฟฟ้า 2 แห่งดังกล่าว รวมถึงการขยายสถานีจ่ายน้ำมันทางรถ (lorry loading) จากปัจจุบันมีอยู่ 10 จุด จะเพิ่มเป็น 15 จุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายน้ำมันและขยายการขนส่งน้ำมันทางรถยนต์เพิ่มขึ้น 50%