วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนเมษายน 2559 ประกาศผลการจัดอันดับ ธนาคารแห่งปี 2559 หรือ Bank of the Year 2016 โดยใช้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง ในรอบปี 2558 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2558 มาพิจารณาจัดอันดับ ปรากฏว่าธนาคารกรุงเทพ (BBL) ได้ครองแชมป์ธนาคารแห่งปี 2559
ผลการดำเนินงานของ ธนาคารกรุงเทพ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยสามารถสร้างกำไรสุทธิได้สูงเป็นอันดับ 3 ของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 34,180.63 ล้านบาท และมีอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) สูงเป็นอันดับ 2 ที่ 23.86% ส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้น สูงสุดเป็นอับดับ 1 ที่ 17.91 บาทต่อหุ้น
นอกเหนือจากประสิทธิภาพในการทำกำไรแล้ว ธนาคารกรุงเทพได้ยึดหลักความระมัดระวังด้วยการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูงอย่างสม่ำเสมอ โดยในปี 2558 ธนาคารตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญรวม 101,755.09 ล้านบาท คิดเป็น 5.44% ของสินเชื่อ ขณะที่มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) รวมทั้งสิ้น 17.87% ประกอบด้วยเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่ระดับ 15.78% และเงินกองทุนขั้นที่ 2 ที่ระดับ 2.09%
นอกจากนี้ ธนาคารยังเน้นการบริหารความเสี่ยงด้านคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือลูกค้าอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ส่งผลให้มียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระดับต่ำเพียง 2.75% ในปี 2559 ธนาคารกำลังปรับเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจในหลายด้าน เช่น ธนาคารดิจิทัล ระบบชำระเงิน รวมถึงกลยุทธ์ด้านช่องทางการให้บริการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารจะมีความสามารถและความคล่องตัว เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้า ควบคู่กับการสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูล และความสะดวกสบายในการดำเนินธุรกรรมผ่านช่องทางบริการทุกช่องทาง ทุกที่ ทุกเวลา ทั้งลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ ลูกค้าธุรกิจรายกลาง ลูกค้าธุรกิจรายปลีก ลูกค้าบุคคล กิจการธนาคารต่างประเทศ และกิจการการเงินธนกิจ
ในฐานะธนาคารแห่งภูมิภาคที่มีเครือข่ายอยู่ในประเทศสำคัญที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น อาเซียน สหรัฐฯ และยุโรป รวม 32 แห่ง ใน 15 เขตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียนมีถึง 16 แห่ง ธนาคารจึงมีความพร้อมสนับสนุนลูกค้าในการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ โดยจัดเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อให้คำแนะนำ และจัดโครงการนำลูกค้าสำรวจลู่ทางการดำเนินธุรกิจในประเทศที่มีศักยภาพ
ปีนี้ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ครองอันดับ 2 ร่วมกันเป็นครั้งแรก โดยธนาคารกสิกรไทย มีรายได้ในปี 2558 สูงเป็นอันดับ 1 รวม 249,020.92 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 39,473.64 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 2 และมีอัตราส่วนทางการเงินสูงในอันดับต้นๆ ได้แก่ อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) สูงเป็นอันดับ 1 ที่ 20.20% อัตราผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) สูงเป็นอันดับ 2 ที่ 14.54% และกำไรสุทธิต่อหุ้น สูงเป็นอันดับ 2 ที่ 16.49 บาทต่อหุ้น
สำหรับทิศทางในปี 2559 ธนาคารกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะมุ่งเน้น 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.การเป็นอันดับหนึ่งด้านธนาคารหลักของลูกค้าในทุกกลุ่มลูกค้า และมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง 2.การครองความเป็นผู้นำด้านการให้บริการดิจิทัลแบงกิ้ง 3.การเน้นย้ำเรื่องบริการที่เป็นเลิศตามแนวคิด “บริการทุกระดับประทับใจ" และการเสริมสร้างตำแหน่งทางการตลาดนี้ให้แข็งแกร่ง และ 4.การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 เพื่อตอบสนองต่อโอกาสทางธุรกิจซึ่งมาจากการเกิดขึ้นของ AEC รวมถึงโอกาสทางธุรกิจกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังคงเป็นธนาคารที่มีกำไรสุทธิสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในระบบธนาคารพาณิชย์ โดยในปี 2558 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 47,182.41 ล้านบาท และมีอัตรากำไรสุทธิสูงสุดเป็นอันดับ 1 ที่ 28.59% เช่นเดียวกับอัตราผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 15.92%
ในปี 2559 ธนาคารได้กำหนดกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจของธนาคารอย่างยั่งยืน โดยปรับพอร์ตโฟลิโอของธนาคารให้มีความสมดุลมากขึ้น พร้อมทั้งเน้นการเติบโตจากภายใน โดยเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมและฐานสินทรัพย์จากกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน และผลักดันการใช้ดิจิทัล โดยเพิ่มการใช้งานผ่านช่องทางด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น และสนับสนุนการทำงานร่วมกัน โดยส่งเสริมการทำงานร่วมกันผ่านช่องทางการให้บริการและฐานลูกค้า ทั้งหน่วยงานภายในธนาคารและบริษัทในเครือ
ปีนี้อันดับ 4 ยังคงเป็นของ ธนาคารกรุงไทย (KTB) โดยมีกำไรสุทธิ 28,493.77 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 4 โดยในปี 2559 ธนาคารมีการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ Three Summits โดยจะเป็นการเข้าสู่ช่วงที่สองของ Three Summits หรือ 2nd Summit (ปี 2559-2561) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ มุ่งเน้นในเรื่องของการปิดช่องว่างกับธนาคารคู่เทียบ โดยจะปรับพอร์ตสินเชื่อเพื่อเพิ่มคุณภาพของสินทรัพย์ เน้นการขยายสินเชื่อธุรกิจ SME ขนาดกลางและขนาดเล็กมากขึ้น ในส่วนของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารจะเน้นการมีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่ลูกค้า เพื่อสนับสนุนการขายข้ามผลิตภัณฑ์อันจะนำไปสู่การเป็นธนาคารหลักของลูกค้า พร้อมต่อยอดจากการมีความสัมพันธ์อันดีและความเข้าใจในลูกค้าภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้ให้บริการในธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ หรือภาครัฐกับผู้บริโภค
อันดับ 5 ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) โดยมีกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 5 รวม 18,634.18 ล้านบาท สำหรับในปี 2559 ธนาคารจะมุ่งในการสานต่อแผนธุรกิจระยะกลาง 3 ปี ภายใต้ 3 กลยุทธ์หลักคือ 1.ผลักดันการเติบโตของสินทรัพย์ 2.เพิ่มรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และ 3.ลดต้นทุนทางการเงิน ทั้งนี้ ธนาคารมุ่งขยายบริการเครือข่ายธุรกิจครอบคลุมทั้งในกลุ่มลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศ CLMV พร้อมทั้งผสานความร่วมมือกับเครือข่ายของธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (BTMU) ที่ครอบคลุม 7 ประเทศในอาเซียน โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นสถาบันการเงินชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน
ปีนี้อันดับ 6 มี 2 ธนาคารที่ได้ครองตำแหน่งร่วมกัน ได้แก่ ธนาคารเกียรตินาคิน (KK) และธนาคารธนชาต โดย ธนาคารเกียรตินาคิน มีกำไรสุทธิ 3,317 ล้านบาท สำหรับแผนธุรกิจปี 2559 ธนาคารได้เดินหน้าตามโมเดลธุรกิจที่เน้น 3 ด้านหลัก คือ 1.การเป็น Credit House ที่มีประสิทธิภาพ 2.ต่อยอดธุรกิจ Private Banking ที่ภัทร มีประสบการณ์มากว่า 15 ปี และ 3.รักษาความเป็นผู้นำในด้าน Investment Banking
ในปี 2558 ธนาคารธนชาต มีกำไรสุทธิ 10,742.83 ล้านบาท ส่วนในปี 2559 ธนาคารได้กำหนดนโยบาย 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. นำเสนอนวัตกรรมใหม่ของผลิตภัณฑ์เงินออมและการลงทุนให้แก่ลูกค้า 2. นำเสนอความคุ้มครองภายใต้ผลิตภัณฑ์กลุ่มประกันที่เหมาะสมตอบโจทย์ลูกค้า ภายใต้กลุ่มธนชาต เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจในความสำเร็จทางการเงิน 3. เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของลูกค้าในการให้คำปรึกษาการระดมทุนและการกู้ยืมที่ตรงตามความต้องการในแต่ละกลุ่มลูกค้า เพื่อให้ลูกค้ามีระบบการเงินที่ดีขึ้น และ 4.เชื่อมโยงลูกค้า ให้สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารธนชาตได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกช่องทางผ่านระบบบริการธนาคารดิจิทัล
อันดับ 8 ธนาคารทิสโก้ มีกำไรสุทธิ 2,914.31 ล้านบาท ซึ่งกลยุทธ์ในปี 2559 ธนาคารมุ่งเน้นการสร้างรายได้ภายใต้การบริหารคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับเสริมสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมโดยการขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1.กลุ่มลูกค้ารายย่อย ผ่านการขยายเครือข่ายการให้บริการอย่างต่อเนื่องไปยังตลาดที่ยังมีการเติบโตสูง และเสริมสร้างการขยายฐานลูกค้าผ่านพันธมิตรทางธุรกิจ 2.กลุ่มลูกค้าธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาว ด้วยการเป็นพันธมิตรที่ให้บริการทางการเงินอย่างครบวงจร พร้อมกับยังเน้นการสร้างโอกาสจากขยายตัวของการลงทุนภาครัฐในช่วงเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และ 3.กลุ่มลูกค้าธนบดี โดยให้บริการด้านการบริหารความมั่งคั่งด้วยคำแนะนำที่มีคุณภาพ และตอบสนองความต้องการสำหรับลูกค้าแต่ละราย รวมถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับกลุ่มรายได้ปานกลางที่ขยายตัว
อันดับ 9 ธนาคารทหารไทย (TMB) มีกำไรสุทธิ 9,333.07 ล้านบาท โดยธนาคารกำหนดกลยุทธ์ในปี 2559 สำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินให้แก่กลุ่มธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ ด้านลูกค้า SME ธนาคารมุ่งสู่การเป็นธนาคารหลักของ SME ในการดำเนินธุรกิจพัฒนาสู่การเป็นธนาคารเพื่อการค้าระหว่างประเทศ ส่วนลูกค้าบุคคล ธนาคารตั้งเป้าหมายที่จะมอบประสบการณ์การทำธุรกรรมทางการเงินที่ง่ายที่สุดและคำแนะนำทางการเงินที่เหมาะสมที่สุด ผ่านช่องทางที่เป็นหนึ่งเดียว โดยเน้นความเป็นผู้นำด้านดิจิตอล
อันดับ 10 ธนาคารยูโอบี มีกำไรสุทธิ 3,120.85 ล้านบาท โดยนโยบายของธนาคาร ในปี 2559 นั้น ธนาคารยึดหลักความระมัดระวังและการมีวินัยในการบริหารงานของธนาคารเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน และยังคงเน้นสร้างความแข็งแกร่งด้านลูกค้า เห็นได้จากการที่ธนาคารมีความเข้าใจถึงความต้องการ ความชอบ และลำดับความสำคัญทางธุรกิจของลูกค้าและนำสิ่งเหล่านี้มาใส่ในผลิตภัณฑ์และการบริการของธนาคารที่ยาวนาน และพนักงานที่ทุ่มเทในการทำงาน
อันดับ 11 ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิ 1,660.73 ล้านบาท สำหรับกลยุทธ์ปี 2559 ธนาคารยังคงเน้นการเติบโตของสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ และเพิ่มเป้าหมายรายได้ค่าธรรมเนียมและควบคุมค่าใช้จ่าย ตลอดจนรุกตลาด Digital Banking โดย Scale Down การเปิดสาขา มาพัฒนาระบบ Mobile Banking หรือการทำธุรกรรมผ่านมือถือ ซึ่งจะสามารถใช้ได้ในช่วงไตรมาส 2 นอกจากนี้ ธนาคารทำการตลาดผ่าน Social Media ต่างๆ เช่น Line, Facebook และ Youtube เพราะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
อันดับ 12 ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) มีกำไรสุทธิ 1,335.08 ล้านบาท สำหรับปี 2559 ธนาคารยังคงมุ่งมั่นที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมุ่งให้การสนับสนุนทางด้านการเงินกับกลุ่มธุรกิจต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจยิ่งขึ้นแก่ลูกค้า
อันดับ 13 ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด โดยผลประกอบการของธนาคารในปี 2558 ประสบกับภาวะขาดทุนจำนวน 46.69 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการให้บริการที่มีคุณภาพกับทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งลูกค้าธนาคารพิเศษและธนาคารต่างประเทศ ลูกค้าบุคคล ลูกค้าธุรกิจ ลูกค้าองค์กรและลูกค้าสถาบัน โดยธนาคารมุ่งบริการและผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ด้วยข้อเสนอที่หลากหลายให้กับลูกค้าแต่ละกลุ่มเพื่อให้ได้รับบริการที่เหมาะสม
อันดับ 14 ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย โดยมีกำไรสุทธิ 1,052.48 ล้านบาท นโยบายของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ในปี 2559 ธนาคารจะเดินหน้าใช้เทคโนโลยีและการจับมือกับพันธมิตรธุรกิจรุกลูกค้ารายย่อย และชูจุดแข็งด้านเครือข่ายในภูมิภาคหนุนลูกค้าธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ และธุรกิจ SME ในการเปิดตลาดอาเซียน
อันดับ 15 ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย มีกำไรสุทธิ 111 ล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงาน รวมถึงการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมและพร้อมก้าวสู่ยุคแห่งการเติบโตและสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ ด้วยความมุ่งมั่นในภารกิจการให้บริการทางการเงินแก่กลุ่มลูกค้ารายย่อย ทั้งประชาชนทั่วไป และธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้