นางธัญรัตน์ เทศน์สาลี ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทคาดการณ์รายได้รวมในรูปเงินบาทปี 59 จะเติบโต 10-15% จากปี 58 รายได้รวมที่ 1.25 หมื่นล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากรายได้จาการขายที่เพิ่มขึ้นจากกำลังการผลิตของโรงงานแห่งใหม่เฟส 3 ที่ลาดกระบังที่ผลิตแผ่นพิมพ์วงจร (PCB) เพิ่มเข้ามา
ปัจจุบัน กำลังการผลิตของโรงงานใหม่ทั้ง 2 เฟส อยู่ที่ 1.3 ล้านตร.ฟุต/เดือน ล่าสุดไตรมาส 1/59 สามารถใช้กำลังการผลิตโรงงานในอัตรา 80-90% เต็มไตรมาสแล้ว และตามแผนบริษัทจะเปิดเฟสที่ 3 ราวไตรมาส 4/59 หลังจากติดตามสถานการณ์และคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ให้ชัดเจนในช่วงกลางปีนี้ก่อน
"ปี 59 ถ้าผลิตเต็มเฟส 2 การขยายตัวของการขายก็จะทำให้ภาพรวมเติบโตได้ 10-15% แต่การจะตัดสินใจเปิดเฟส 3 ขอดูสถานการณ์ก่อน อยากเห็นออเดอร์ใหม่ที่ชัดเจน เพราะกำลังผลิตเพิ่มมาอีก 7 แสนตร.ฟุต/เดือน ขอดูสถานการณ์อีกทีกลางปี ซึ่งในส่วนของตัวโรงงานสร้างเสร็จแล้ว เหลือเพียงสั่งเครื่องจักรใหม่เข้ามา แต่ขอดูออเดอร์ให้ชัดมากกว่านี้ก่อน เพราะถ้าเปิดแล้วเดินเครื่องไม่เต็ม การพิจารณาลงทุนก็ต้องระวังด้วย ถ้าลงทุนล่วงหน้าก็ต้องแบกภาระต้นทุน เพราะออเดอร์เดี๋ยวนี้สั้นมาก ลกค้าไม่สต็อกของนาน เมื่อก่อนมีช่วง 8-12 สัปดาห์ ต้องสั่งของก่อน ตอนนี้ 3-4 สัปดาห์ออร์เดอร์ล่วงหน้า เมื่อก่อนคอนแทครายปี ช่วงหลังๆ นี้เป็นรายเดือน"นางธัญรัตน์ กล่าว
ส่วนกำไรสุทธิปีนี้น่าจะสูงขึ้นต่อเนื่องจากปี 58 ที่มีกำไร 2.24 พันล้านบาท โดยได้รับอานิสงส์จากอุตสาหกรรมยานยนต์ออกรถยนต์โมเดลใหม่ๆ มามากขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และ PCB มากขึ้น โดยสัดส่วนรายได้จากการผลิต PCB ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ คิดเป็น 70% ของ PCB ทั้งหมด
ประกอบกับ บริษัทขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในยุโรป เช่น เยอรมัน อีกทั้งการใช้กำลังการผลิตเต็มที่ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นขยับขึ้นได้อีก โดยไตรมาส 4/58 อัตรากำไรขั้นต้นปรับขึ้นเป็น 33% จาก 32% ในไตรมาส 3/58 จากมีการประหยัดจากขนาดการผลิต (Economy of scale) เพราะอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานใหม่ขึ้นไปถึง 83% ในไตรมาส 4/58 และไตรมาส 1/59 ขยับขึ้นต่อเนื่องเป็น 80-90% แล้ว
อีกทั้ง บริษัทสามารถบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง
"กำไรปีนี้สูงกว่าปีก่อนแน่นอนเพราะรายได้เติบโต และอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) สูงขึ้น โดยปี 58 GPM เฉลี่ยที่ 31% ขณะที่ไตรมาส 4/58 สูงถึง 33% พอไตรมาส 1/59 ก็ต้องสูงขึ้นเพราะกำลังการผลิตสูงขึ้น ส่วนทั้งปี 59 ก็น่าจะสูงกว่าปีก่อน อย่างไรก็ตาม ปีนี้จะมีเรื่องการปรับลดราคาสินค้าบางกลุ่มให้กับลูกค้า และมีเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นด้วย แต่ก็เชื่อว่าผลบวกจากประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้นจะหนุน ซึ่งปี 58 เงินบาทอ่อนมาก แต่ปีนี้มองแถว 34-35 บาท/ดอลลาร์"นางธัญรัตน์ กล่าว
นางธัญรัตน์ กล่าวว่า บริษัทได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์สำหรับรถยนต์และน่าจะดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะ PCB ที่ใช้ในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น รถยนต์อิเล็กทรอนิกส์ ขับเคลื่อนแบบไร้คนขับ รวมทั้ง ระบบต่างๆในรถยนต์ที่ต้องใช้ระบบเซ็นเซอร์ หรือระบบเพื่อความปลอดภัยสูงสุด ยิ่งทำให้มีความต้องการ PCB เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง KCE อยู่ใน 1 ใน 5 อันดับในตลาดโลกที่เติบโตจากเทคโนโลยี PCB
ในปีนี้บริษัทเตรียมเงินลงทุนไว้ 35 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับเดินเครื่องโรงงานในเฟส 3 ซึ่งเป็นงบลงทุนปกติรายปีเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ ขณะที่การก่อสร้างโรงงานเสร็จไปแล้ว สำหรับโรงงานเดิมปัจจุบันมีเปิดอยู่บางส่วน ยังไม่ได้ย้ายไปแห่งใหม่ทั้งหมด เพราะบางส่วนยังเป็นแบ็คอัพให้กับโรงงานแห่งใหม่อยู่
ปัจจุบันกำลังผลิตของโรงงานแห่งใหม่อยู่ที่ 1.3 ล้านตร.ฟุต/เดือน เป็นกำลังการผลิตของเฟส 1 ราว 7 แสน ตร.ฟุต/เดือน ส่วนเฟส 2 เป็นการโอนย้ายกำลังการผลิตจากโรงงานเดิมที่ 6 แสน ตร.ฟุต/เดือน ส่งผลให้ capacity รวมเพิ่มเป็น 1.3 ล้านตร.ฟุต/เดือน และในปีนี้หากเฟส 3 เปิดเต็มที่ก็จะเพิ่มเข้ามาอีก 7 แสนตร.ฟุต/เดือน ทำให้บริษัทจะมีกำลังผลิตทั้งหมด 2 ล้านตร.ฟุต/เดือน ซึ่งน่าจะเห็นในปี 60
"พอ 2 เฟสชัดเจน GPM ก็สูงขึ้นมาก และถ้าเมื่อไรที่เปิดเฟส 3 เต็มๆ ก็จะทำให้อัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้น รีเทิร์นก็จะสูงมากขึ้น Q4/58 สูงถึง 33% พอ Q1/59 ก็สูงขึ้นพอสมควรเพราะ capacity มากขึ้น ส่วน Q2/59 ก็ต้องสูงขึ้นแน่นอน แต่ถ้าทั้งปีเนื่องจากราคาขายเราปรับลดลงให้ลูกค้าบ้าง และค่าเงินบาทแข็งขึ้นมาด้วย ก็ต้องมา Net กับอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นอีกที ซึ่งสุทธิแล้วก็เชื่อว่าจะสูงกว่าปีก่อน เพราะยอดขายเราสูงขึ้น 10-15%
ปี 58 เป็นปีแรกของการเปิดโรงงานใหม่ไม่ขาดทุนก็ถือว่าดีมากแล้ว ปีนี้ Q1/59 ดีตั้งแต่ต้นมือ ทั้งปีก็น่าจะดีกว่าปีก่อนแน่นอน ขณะที่การขายเป็นรูปสกุลเงินต่างประเทศ และการซื้อสินค้าก็เป็นสกุลต่างประเทศเหมือนกัน พอร์ตแบบนี้ balance ต่อเรา"นางธัญรัตน์ กล่าว
สำหรับปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจในปีนี้เป็นปัจจัยภายนอก ได้แก่ ค่าเงินและราคาทองแดง เพราะออร์เดอร์ได้รับการยืนยันมาเกือบทั้งหมดแล้ว ส่วนคู่แข่งไม่มีปัญหาเพราะล้มหายตายจากกันไปก็มากแล้ว อย่างผู้ผลิตจากไต้หวันก็หายไป บางรายทำแล้วไม่กำไร แต่ KCE โชคดีที่ขยายกำลังการผลิตในช่วงที่ราคาทองแดงถูก ทำให้มีการปรับปรุงต้นทุนขึ้นมาในจังหวะที่ดี ลูกค้าหลักก็ออร์เดอร์แน่น ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในกลุ่มยานยนต์คำสั่งซื้อที่แข็งแกร่งในกลุ่ม Automotive ทั้งจากลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่
ส่วนกิจการบริษัทลูก คือ บริษัท ไทยลามิเนต แมนูแฟคเจอเรอร์ จำกัด (TLM) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและป้อนวัสดุให้แก่บริษัทนั้น อยู่ระหว่างการเตรียมแผนขยายกำลังการผลิตตาม KCE ที่เป็นบริษัทแม่ เชื่อว่าจะทำให้กำไรดีขึ้น โดยบริษัทพิจารณาผลักดันการปรับปรุงกิจการให้เข้าหลักเกณฑ์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่คงยังไม่ใช่เร็วๆ นี้เพราะยังต้องหาลูกค้าให้ได้มากกว่านี้ก่อน