นายอาสา สารสิน ประธานกรรมการ บมจ.ผาแดงอินดัสทรี (PDI) เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดตั้งศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรม ระหว่าง PDI และ กรมโรงงานอุตสาหกรรมว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายดำเนินธุรกิจสีเขียวที่สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยมุ่งเน้นการลงทุนธุรกิจบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรที่ จ.ตาก และการรีไซเคิลโลหะและวัสดุที่จ.ระยอง
ทั้งสองโครงการเป็นการร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศด้านการรีไซเคิลและจัดการกากอุตสาหกรรม ซึ่งบริษัทจะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้กับโครงการฯ โดยทั้งสองโครงการนี้ได้ศึกษาความเป็นไปได้ด้านการตลาดและการเงินในเบื้องต้นแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมรวมถึงการออกแบบด้านเทคนิค ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปรายละเอียดด้านเทคนิคภายในปี 59 และจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในต้นปี 62
สำหรับโครงการจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจรของพีดีไอเป็นการจัดการกากอุตสาหกรรมด้วยมาตรฐานสากลโดยมีกระบวนการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้อย่างเหมาะสมและทันสมัย ทำให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรในประเทศ นอกจากนี้ ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการลักลอบทิ้งหรือลักลอบส่งออกกากของเสียที่เป็นอันตรายอย่างผิดกฎหมาย และที่สำคัญเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรม 5 ปี (58-62) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการจัดหาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมทั่วประเทศ
"การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ กรมโรงงานฯ จะร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินโครงการจัดการกากอุตสาหกรรมของ PDI ทั้งด้านข้อมูลกากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการ และให้คำปรึกษาด้านกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เกิดการจัดการกากอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้มีความคล่องตัวในการดำเนินโครงการมากขึ้น ซึ่งทำให้พีดีไอมีความมั่นใจในการลงทุนและสามารถดำเนินโครงการให้บรรลุผลสำเร็จได้"นายอาสา กล่าว
นายอาสา กล่าวต่อว่า โครงการศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรมทั้ง 2 แห่งมีมูลค่ารวมกันราว 1,000-1,500 ล้านบาท โดยเป็นเงินจากธุรกิจเดิมของบริษัทเองและเงินกู้สถาบันการเงิน โดยบริษัทจะเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศเข้ามาร่วมทุนในทั้ง 2 โครงการ ซึ่งโครงการกำจัดกากอุตสาหกรรมครบวงจรใน จ.ตาก คาดว่าจะมีพันธมิตรจากญี่ปุ่น ส่วนโครงการรีไซเคิลโลหะและวัสดุที่ จ.ระยอง จะเป็นพันธมิตรจากยุโรป การร่วมทุนทั้ง 2 โครงการนั้น PDI ต้องการถือหุ้นในสัดส่วน 51% และพันธมิตร 49%
บริษัทคาดว่าจะก่อสร้างทั้ง 2 โครงการแล้วเสร็จทันปี 60 หลังจากใช้เวลาศึกษา 1-2 ปี ควบคู่ไปกับการทำประชาพิจารณ์ และยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยขณะนี้ที่ดินรองรับการก่อสร้างโครงการแล้วทั้ง 2 แห่ง คือ ที่จ.ตาก ใช้พื้นที่สร้างโรงงาน 250 ไร่ ขนาดกำลังการผลิต 5 หมื่นตัน/ปี และ ที่ จ.ระยอง ใช้ที่ดินราว 50 ไร่ ขนาดกำลังการผลิต 3 หมื่นตัน/ปี
"มีความเชื่อมั่นว่าจะดำเนินการได้ ปี 62 ส่วนรายได้หรือจุดคุ้มทุนยังไม่สามารถบอกได้ แต่การลงทุนของภาคเอกชนก็ต้องถึงจุดคุ้มทุน และมีกำไรบ้าง ซึ่งต้องขอ BOI ด้วย" นายอาสา กล่าว
ส่วนโครงการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศนั้น นายอาสา กล่าวว่า อยู่ระหว่างการเจรจาเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้า 3 แห่ง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้
"ธุรกิจเดิมสังกะสีเราจะไม่ทำแล้ว เพราะแร่หมดแล้ว และราคาสังกะสีก็ต่ำ จึงต้องหาธุรกิจอื่น เช่น energy จัดการกาก ซึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อประเทศด้วย"นายอาสา กล่าว