BBL เผยกำไร Q1/59 ลดลง 11.6% จากงวดปีก่อน หลังค่าใช้จ่าย-สำรองฯเพิ่ม,สินเชื่อโตเล็กน้อย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 20, 2016 07:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เผยกำไรสุทธิไตรมาส 1/59 ลดลง 11.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 23.9% โดยเพิ่มขึ้นมากที่ค่าใช้จ่ายประมาณการหนี้สินสำหรับภาระผูกพัน และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง ขณะที่มีค่าใช้จ่ายหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่าเพิ่มขึ้นมาที่ 3.64 พันล้านบาท

ณ สิ้นไตรมาส 1/59 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 1.87 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.3% จากสิ้นปี 58 โดยเป็นการเติบโตจากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายกลางและรายปลีก และสินเชื่อกิจการธนาคารต่างประเทศ ขณะที่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 2.9%

BBL แจ้งว่าในไตรมาส 1/59 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 8.32 พันล้านบาท ลดลง 11.6% จากกำไรสุทธิ 9.41 พันล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 8.3% จากกำไรสุทธิ 7.68 พันล้านบาทในไตรมาส 4/58

ธนาคารระบุว่าสาเหตุที่กำไรสุทธิในไตรมาส 1/59 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 2.48 พันล้านบาท หรือ 23.9% เพิ่มขึ้นมากที่ค่าใช้จ่ายประมาณการหนี้สินสำหรับภาระผูกพัน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน และค่าใช้จ่ายอาคารสถานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง 291 ล้านบาท หรือ 4.6% จากการลดลงของค่าธรรมเนียมการรับประกันการจัดจำหน่ายตราสารทางการเงิน

สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นราว 1.8 พันล้านบาท หรือ 12.6% เป็นผลจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินรับฝากลดลง เนื่องจากเงินฝากประจำอัตราดอกเบี้ยสูงทยอยครบกำหนด ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เพิ่มขึ้น 0.19% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเป็น 2.37% ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยรับจากรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินลดลง 1.69 พันล้านบาทตามการปรับลดของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

นอกจากนี้ในไตรมาส 1/59 ธนาคารมีค่าใช้จ่ายหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่าจำนวน 3.64 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.98 พันล้านบาทในไตรมาส 1/58 แต่ลดลงจากระดับ 3.88 พันล้านบาทในไตรมาส 4/58

ธนาคารระบุว่า ในไตรมาส 1/59 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังถูกกดดันจากรายได้เกษตรกรที่ตกต่ำ ประกอบกับปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิต รวมทั้งหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นในบางกลุ่มธุรกิจแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ การส่งออกสินค้าที่ไม่นับรวมทองคำยังมีทิศทางหดตัวตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะจีน ประกอบกับราคาสินค้าส่งออก ยังปรับตัวลดลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก

จากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนมี.ค.59 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 1.87 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.02 พันล้านบาท หรือ 0.3% จากสิ้นปี 58 โดยเติบโตจากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายกลางและรายปลีก และสินเชื่อกิจการธนาคารต่างประเทศ

ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน โดย ณ สิ้นเดือนมี.ค.59 ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 6.18 หมื่นล้านบาท และมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่ออยู่ที่ 2.9% อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงเน้นการบริหารความเสี่ยงด้านคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมพร้อมทั้งให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือลูกค้าอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเสมอมา

"ธนาคารยึดหลักความระมัดระวังด้วยการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ธนาคารมีเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับสูง ในไตรมาส 1/59 ธนาคารมีค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 3.64 พันล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 5.8%"BBL ระบุ

BBL ระบุอีกว่าสำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/59 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/58 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 8.3% เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 2.7% ตามการลดลงของต้นทุนเงินฝากประจำ และมีกำไรสุทธิจากเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 461 ล้านบาท ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 5.8% สาเหตุหลักเกิดจากการรับรู้ค่าใช้จ่ายประมาณการหนี้สินสำหรับภาระผูกภันเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลง 6.1%

ด้านสภาพคล่อง ธนาคารยังคงให้ความสำคัญเรื่องการบริหารสภาพคล่องควบคู่ไปกับการบริหารต้นทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ณ สิ้นเดือนมี.ค.59 ธนาคารมีเงินรับฝากจำนวน 2.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% จากสิ้นปีก่อน และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 87.2% เทียบกับ 89.4% ณ สิ้นปีก่อน

ด้านเงินกองทุน ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนอยู่ในระดับที่ดีสามารถรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต ซึ่งหากนับรวมกำไรสุทธิสำหรับงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.58 และกำไรสุทธิในไตรมาส 1/59 หักด้วยเงินปันผลที่จะจ่ายในเดือนพ.ค.59 รวมเข้าเป็นเงินกองทุน อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยจะอยู่ในระดับประมาณ 18.5% , 16.5% และ 16.5% ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ