นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำแผนลงทุน 5 ปีใหม่ (ปี 59-63) จากเดิมที่ราว 554 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังมีแผนลงทุนธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะการรุกธุรกิจต้นน้ำประเภท energy resources มากขึ้นจากปัจจุบันที่มีการลงทุนในธุรกิจถ่านหินเป็นหลัก ซึ่งล่าสุดใช้เงิน 112 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อเข้าลงทุน 29.4% ในแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (shale gas) ในสหรัฐ
พร้อมทั้ง ยังมีแผนพัฒนาธุรกิจที่สร้างมูลค่าในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ในธุรกิจกลางน้ำ ขณะที่ธุรกิจปลายน้ำ นอกจากธุรกิจไฟฟ้า ยังสนใจการลงทุนระบบจัดเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) ด้วย
"แผน 5 ปีเป็นแผนที่เรามีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ใส่งบประมาณ รายละเอียดการทำงานในส่วนของธุรกิจใหม่ ซึ่งเราเรียกว่าธุรกิจที่สาม ยังไม่ได้อยู่ในแผนงานและงบประมาณ ซึ่งเราจะมีรายละเอียดของแผนงานและงบประมาณธุรกิจที่สามอย่างสมบูรณ์ในเดือนมิถุนายนนี้...ตอนนี้เรามีงบประมาณ 554 ล้านเหรียญฯ ก็บวกเข้าไปอีก 112 ล้านเหรียญฯที่เพิ่มเข้ามาใหม่ ส่วนจะเพิ่มขึ้นอีกนั้นก็จะมีอยู่ในแผนระยะยาวที่เรากำลังจัดทำอยู่"นางสมฤดี กล่าว
นางสมฤดี กล่าวว่า ธุรกิจต้นน้ำที่บริษัทให้ความสำคัญในประเภท energy resources นั้น นอกเหนือจากปัจจุบันที่ลงทุนอยู่แล้วในธุรกิจถ่านหิน และเริ่มรุกเข้าสู่ธุรกิจ shale gas แล้ว ก็ยังมองหาการลงทุนในแหล่งแร่ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานในอนาคต ซึ่งแหล่งถ่านหินที่มองโกเลียก็ได้พบสายแร่อื่นนอกเหนือจากถ่านหินด้วย โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนหลังการจัดทำแผนกลยุทธ์ 5 ปีแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะเปิดเผยได้ในช่วงเดือน ก.ค.59
นอกจากนี้ ยังมองหาโอกาสลงทุน shale gas เพิ่มเติมใน Marcellus Shale ในสหรัฐ จากปัจจุบันที่เข้าถือครองสิทธิ 29.4% ในแหล่ง Chaffee Corners ซึ่งอยู่ทางแถบตะวันออกเฉียงเหนือของ Marcellus Shale ในรัฐเพนซิลเวเนีย
สำหรับธุรกิจกลางน้ำ จะเป็นลักษณะการทำ Supply Chain Management เช่น การนำถ่านหินที่มีค่าความร้อนแตกต่างกันมาผสมกันให้มีความเหมาะสมก่อนจำหน่ายให้กับลูกค้า หรือการจัดซื้อน้ำมันเพื่อมาเก็บในสต็อกสำหรับรองรับการใช้ในเหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซีย
ส่วนธุรกิจปลายน้ำ ปัจจุบันมีการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายจะขยายกำลังการผลิตและขยายพอร์ตการลงทุนให้ใหญ่ขึ้นตามเป้าหมายเป็นกว่า 4,000 เมกะวัตต์ในปี 63 และเพิ่มเป็น 4,300 เมกะวัตต์ในปี 68 โดยในส่วนนี้ประมาณ 20% หรือราว 800 เมกะวัตต์จะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งได้ศึกษาโอกาสการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติมทั้งในญี่ปุ่น และจีน รวมถึงโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังความร้อนใต้พิภพ ในอินโดนีเซีย ขนาด 70 เมกะวัตต์ขึ้นไป ตลอดจนการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำในต่างประเทศด้วย
นายสมฤดี กล่าวอีกวา ในธุรกิจปลายน้ำบริษัทยังมองหาโอกาสลงทุนในธุรกิจระบบจัดเก็บพลังงาน และเทคโนโลยีพลังงานอื่นๆ เพื่อที่จะสามารถรองรับความต้องการด้านพลังงานของผู้บริโภคด้วย
"การลงทุนธุรกิจในธุรกิจใหม่เป็นส่วนที่อยู่นอกเหนือจากงบลงทุนตามแผน 5 ปีเดิม การที่เราเตรียมตัวให้มีโครงสร้างทางการเงินของเราแข็งแรง การเพิ่มทุนครั้งนี้ก็จะทำให้เราสามารถลดหนี้ได้ประมาณ 360 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันที่มีภาระหนี้ราว 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐ พอหนี้เราลดลงก็จะจัดเงินเพื่อลงทุนในอนาคตได้ ส่วนธุรกิจไฟฟ้าที่เป็น down stream ก็จะมีเงินจากบ้านปู เพาเวอร์ ที่คาดว่าจะ IPO ในไตรมาสที่ 3 หรือไตรมาส 4 หรือต้นปีหน้าแล้วแต่เวลาที่เหมาะสมที่สุด"นางสมฤดี กล่าว
BANPU อยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนเท่าตัว เพื่อระดมทุนราว 1.29 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าในช่วงเดือนพ.ค.นี้จะได้เงินเพิ่มทุนเข้ามาราว 6,450 ล้านบาทก่อน หลังจากนั้นภายใน 1 ปี หากมีการแปลงสภาพทั้งหมดของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) ที่จัดสรรให้ฟรีแก่ผู้ถือหุ้นที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ ก็จะทำให้มีเงินเข้ามาอีกราว 6,450 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับงบดุลของบริษัทรองรับการเติบโตได้ในอนาคต
"ตอนนี้เราก็ review อยู่ตลอดเวลา โอกาสมีอยู่ทั่วไปคิดว่าดีเหมาะสม และมีเงิน และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม มีอัพไซด์ ก็มีโอกาสอยู่แล้ว อยู่ที่เราจะตัดสินใจลงทุนหรือไม่"นางสมฤดี กล่าวถึงโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่เพิ่มเติมอีกในปีนี้