STEC จัลคู่ BTS, CK จับคู่ BEM เข้าประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สีเหลือง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 21, 2016 17:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ. ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐทุกงาน โดยจะเข้าประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง หลังจากเจรจากับ บมจ.บีทีเอส โฮลดิ้ง กรุ๊ป (BTS) ที่จะร่วมเข้าประมูลด้วยกัน และยังมีโครงการรถไฟทางคู่ที่รัฐจะเปิดประมูลอีก 4-5 เส้นทาง รวมมูลค่างานกว่า 1 แสนล้านบาท ขณะที่ บริษัทได้จัดซื้อเอกสารแบบประกวดราคาของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 มา 2 กลุ่มงานแล้ว

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าดึงงานประมูลที่เกิดขึ้นในปีนี้ให้ได้ประมาณ 20-25% หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) อยู่ 5.5 หมื่นล้านบาท

"รถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง จากที่มีกระแสข่าวว่าบริษัทจะจับมือกับ BTS เข้ามาเดินรถนั้น ยอมรับว่าปัจจุบันก็อยู่ในขั้นตอนของการเจรจารายละเอียดจริง"

นายภาคภูมิ ยังกล่าวว่าในปี 60 คาดว่ารายได้ของบริษัทเติบโตขึ้นประมาณ 20%จากการประมูลโครงการใหญ่ๆในปีนี้ จากปี 59 ที่บริษัทคาดว่ารายได้น่าจะใกล้เคียงปีก่อนที่มีรายได้ 1.8 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ยอมรับว่าสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบันแม้จะมีบริษัทรายใหญ่อยู่ 4 – 5 ราย แต่การแข่งขันยังคงเกิดขึ้นเป็นปกติ และทุกงานจะต้องผ่านการดูเงื่อนไขประกวดราคาก่อน แต่จากกรณีประกวดราคาที่ผ่านมาจะพบว่าบริษัทที่ผ่านเกณฑ์มีอยู่ราว 5 ราย ดังนั้นส่วนแบ่งทางการตลาดที่หลายๆ บริษัทประเมินจึงอยู่ที่ 20-25%

ด้านางสาวสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ช.การช่าง (CK) เปิดเผยว่า บริษัทสนใจเข้าร่วมประมูลโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐทุกงาน โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว - สำโรง CK จะร่วมกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เข้าร่วมประมูล โดย CK จะเป็นผู้ก่อสร้างงานโยธา และ BEM ก็มีประสบการณ์การเดินรถไฟฟ้าอยู่แล้ว

ขณะที่โครงการถไฟทางคู่ก็จะเข้าประมูลทุกเส้นทางเช่นกัน

ทั้งนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คาดว่าจะเปิดประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และ สีเหลือง ได้พร้อมกันประมาณเดือน มิ.ย.นี้ หลังจากครม.ได้อนุมัติโครงการเมื่อ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา

รถไฟฟ้าสายสีชมพู ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร 30 สถานี กรอบวงเงิน 53,490 ล้านบาท และสายสีเหลือง ระยทาง 30.4 กิโลเมตร 23 สถานี กรอบวงเงิน 51,810 ล้านบาท รวมวงเงินลงทุนทั้งหมดที่ 105,300 ล้านบาท โดยให้ดำเนินการรูปแบบ PPP Net Cost รัฐจะลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 6,847 ล้านบาทในรถไฟฟ้าสายสีชมพู และ สายสีเหลือง จำนวน 6,013 ล้านบาท รวมทั้งให้วงเงินสนับสนุนแก่เอกชนสำหรับงานโยธาไม่เกิน 21,200 ล้านบาทสำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู และไม่เกิน 22,354 ล้านบาทสำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ