บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ตั้งเป้าหมายยอดขาย 5 ปี เติบโตเฉลี่ยปีละ 10% โดยคาดยอดขายแตะระดับ 7-8 แสนล้านบาทในปี 63 ขณะที่คาดว่าการดำเนินงานปีนี้จะได้รับผลดีจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง ,ราคาเนื้อสัตว์ฟื้นตัว และธุรกิจกุ้งหยุดความเสียหาย ส่วนกิจการในตุรกีดีขึ้น หลังลดขนาดธุรกิจที่ขาดทุนและธุรกิจความผันผวนสูงทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย แล้วหันมาเน้นธุรกิจที่ทำกำไรได้มากขึ้น
พร้อมขยายวงเงินออกหุ้นกู้เป็น 1 แสนล้านบาท จากเดิมที่ 8 หมื่นล้านบาท เพื่อสำรองเป็นแหล่งเงินทุนในการทำธุรกิจและชำระคืนหนี้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะสินทรัพย์ (due diligence) กิจการในบราซิลที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ รองประธานกรรมการ และ ประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ CPF เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ในช่วงปี 59 - 63 หรือในช่วง 5 ปีนี้ ยอดขายจะเติบโตปีละ 10% และจะทำให้ยอดขายในปี 63 จะอยู่ที่ 7-8 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 58 ที่มียอดขาย 4.2 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ในปี 59 ธุรกิจของบริษัทมีแนวโน้มดีขึ้นจากปี 58 เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี และธุรกิจกุ้งปีนี้คาดหวังจะหยุดการเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากโรคระบาดในกุ้ง เพราะขณะนี้ลูกกุ้งมีคุณภาพดีขึ้นและการเลี้ยงมีระบบพัฒนาดีขึ้น ประกอบกับราคาเนื้อสัตว์ทั้งสุกรและไก่อยู่ในขาขึ้น
"เหตุที่ราคาเนื้อสุกรสูงขึ้นเกิดจากในเอเชีย เช่น เวียดนาม เกิดภาวะขาดแคลนเนื้อสุกร ส่วนไก่เนื้อราคาปีนี้ดีขึ้น หลังจากปีที่แล้วเกิดโรคหวัดนกในสหรัฐและยุโรป ทำให้ปีนี้มีคำสั่งซื้อมากขึ้น ด้วยปัจจัยเหล่านี้ เชื่อว่าน่าจะส่งผลบวกในปีนี้ และทำให้แนวโน้มธุรกิจปีนี้ดีกว่าในปี 58"นายอดิเรก กล่าว
นายอดิเรก ยังเปิดเผยว่า ในวันนี้ที่ประชุมผูถื้อหุ้น CPF อนุมัติให้บริษัทขยายวงเงินกู้เพิ่มเติมอีก 2 หมื่นล้านบาท จาก 8 หมื่นล้านบาท เป็น 1 แสนล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นแหล่งเงินทุนระยะยาว ในการดำเนินธุรกิจและชำระคืนหนี้ ซึ่งในการซื้อกิจการในต่างประเทศ บริษัทยังมองหาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างทำ due diligence กิจการในบราซิลที่เป็์นธุรกิจที่เกี่ยวสัตว์บกสัตว์น้ำ
นอกจากนั้น นายอดิเรก ยังแสดงความมั่นใจว่าเห็นโอกาสและศักยภาพการเติบโตธุรกิจในต่างประเทศที่ CPF ออกไปลงทุนแล้วใน 14 ประเทศ ทั้งการผลิตและจำหน่ายในประเทศนั้นๆที่เข้าไปลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจในจีน อินเดีย เวียดนาม กลุ่มประเทศอาเซียน รัสเซีย บริษัทยังเห็นโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปยังประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ ประเทศในทวีปยุโรป ก็เป็นได้ด้วยดี
"บริษัทมีเป้าหมายทั้งระยะยาวและระยะสั้น ซึ่งบริษัทก็มีศักยภาพ แต่โอกาสผิดพลาดก็มี เพราะสิ่งที่มากระทบเศรษฐกิจ เป้าหมายระยะยาวชัดเจน เน้นการเติบโตแบบยั่งยืน" ประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ CPF กล่าว
ทั้งนี้ ยกเว้นในประเทศตุรกีที่เกิดผลขาดทุน เพราะมีเหตุก่อการร้าย และการเมืองไม่สงบ และยังมีโรคหวัดนกแพร่กระจาย แต่ในปีนี้บริษัทปรับกลยุทธ์ด้วยการชะลอธุรกิจที่ขาดทุน และไปเน้นเพิ่มธุรกิจมีผลกำไร เช่น ธุรกิจอาหาร โดยหวังว่าปีนี้ผลประกอบการในตุรกีจะกลับมาดีขึ้น ซึ่งบริษัทพยายามประคองสถานการณ์ต่อไป
"ในตุรกีมีปัญหาขาดทุนต่อเนื่องหลายปี ก็หวังว่าปีนี้น่าจะกลับมาดีขึ้น พยายามประคองสถานการณ์ และจะนำเรื่องนี้ไปไพิจารณา ที่ผ่านมาเราได้หดธุรกิจที่ขาดทุน เพื่อปรับปรุงผลขาดทุน และเร่งธุรกิจทีทำกำไร"นายอดิเรก กล่าว
ส่วนธุรกิจค้าปลีก เช่น ธุรกิจไก่ 5 ดาว ที่มีร้านกว่า 6 พันกว่าจุดที่ทำกำไรให้มาตลอด ร้านเชสเตอร์กริลล์ มีจำนวน 200กว่าร้าน และ ซีพีเฟรชมาร์ท 400 กว่าแห่ง รวมทั้งศูนย์อาหาร โดยรวมธุรกิจเหล่านี้มีอนาคตและคู่แข่งก็มีไม่มาก เชื่อว่ายังเติบโตไปได้
ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้ของบริษัท รายได้จากธรุกิจในประเทศ 35% รายได้จากธุรกิจในต่างประเทศ 65%
สำหรับโครงการรับซื้อหุ้นคืนของบริษัท นายอดิเรก กล่าวว่า เนื่องจากคณะกรรมการ(บอร์ด) เห็นว่าราคาหุ้น CPF ปรับตัวลงไป 17 บาทกว่า จึงกังวลว่าราคาหุ้นต่ำกว่าเป็นจริงจึงได้อนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืน วงเงินไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาทในช่วง 10 ก.ย. 58- 9 มี.ค. 59 แต่หลังการประกาศซื้อหุ้นคืน ราคาหุ้นทยอยปรับตัวขึ้น เนื่องจากภาวะธุรกิจกุ้ง, สุกร ,ไก่ ดีขึ้น และภาวะธุรกิจในต่างประเทศดีขึ้น ทำให้ราคาหุ้น CPF ปรับขึ้นมาตลอด จึงไม่มีความจำเป็นเข้าไปซื้อตามโครงการรับซื้อหุ้นคืน
ราคาหุ้น CPF วันนี้ปิดที่ 25.50 บาท ลบ 0.25 บาท (-0.97%)