บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) แจ้งว่าบริษัทยังคงประมาณการแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 59 โดยพิจารณาจากความไม่แน่นอนของการแข่งขันในตลาด รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งในส่วนของรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) จะอยู่ในระดับทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 58 แม้ว่าในช่วงไตรมาส 1/59 จะมีรายได้จากส่วนดังกล่าวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนก็ตาม โดยบริษัทจะใช้แพ็กเกจค่าบริการและข้อเสนออุปกรณ์ที่น่าสนใจรวมทั้งรักษาตำแหน่งทางการตลาดของบริษัทในการนำเสนอความคุ้มค่าให้กับลูกค้า
นอกจากนี้ บริษัทยังคงประมาณการเงินลงทุนไว้ที่ระดับเดียวกับปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และด้วยการมีโครงข่าย 4G ที่มีคุณภาพสามารถแข่งขันได้ และการนำเสนออุปกรณ์โทรศัพท์ 4G พร้อมแพ็กเกจที่น่าสนใจ จึงมีเป้าหมายเพิ่มฐานลูกค้าผู้ใช้บริการ 4G เป็น 4.5 ล้านเลขหมายภายในสิ้นปี 59
และคงคาดการณ์อัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่าย ภาษีนิติบุคคล ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA margin) ในปีนี้อยู่ในช่วง 27-31% แม้ EBITDA margin ในไตรมาส 1/59 จะทำได้ในระดับ 33.8% ก็ตาม โดยแนวโน้ม EBITDA margin จะขึ้นอยู่กับปริมาณการให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์ที่บริษัทจะใช้เพื่อแข่งขันในตลาดในไตรมาสต่อไป
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/59 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 2.17 หมื่นล้านบาท ลดลง 5.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในส่วนนี้เป็้นรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย อยู่ที่ 1.64 หมื่นล้านบาท ลดลง 2% จากงวดปีก่อน ขณะที่มีกำไรสุทธิที่ 1.26 พันล้านบาท ลดลง 45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
กำไรสุทธิที่ลดลงในงวดไตรมาส 1/59 เป็นผลจากการที่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยในส่วนของค่าใช้จ่ายด้านเครือข่ายขยายตัวตามการเติบโตของเครือข่าย ค่าใช้จ่ายในการขายและการตลาด รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบริหาร เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกับระดับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายด้านการอุดหนุนราคาเครื่องโทรศัพท์ของพรีเพดลดลงใน ไตรมาส 1/59 ส่งผลให้EBITDA margin เพิ่มขึ้นเป็น 33.8% เมื่อเทียบกับ 32.3% ในงวดเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของต้นทุนการให้บริการมีค่าสูงขึ้นเนื่องจากการลงทุนที่มากขึ้นในการพัฒนาโครงข่าย การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายได้ถูกหักล้างบางส่วนจากการลดลงของต้นทุนจากส่วนแบ่งรายได้ (Regulatory cost) และภาษีนิติบุคคล กระทบต่อระดับกำไรสุทธิในงวดไตรมาสนี้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรายได้ในงวดไตรมาส 1/59 นับเป็นครั้งแรกที่รายได้จากการให้บริการดาต้าเพิ่มขึ้นถึง 50% ของรายได้รวมจากการให้บริการไม่รวมค่า IC ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าความต้องการในการใช้บริการดาต้ายังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทมีจำนวนคลื่นความถี่ในการให้บริการที่แข็งแกร่งด้วยแบนด์วิธที่มากถึง 50 MHz ซึ่งมากเพียงพอที่จะรองรับการเติบโตของความต้องการในการให้บริการที่ดีที่สุดกับลูกค้าทั้งในระบบ 2G ,3G และ 4G
"ดีแทคยินดีที่ได้เห็นรายได้จากการให้บริการดาต้าเพิ่มขึ้นถึงสัดส่วน 50% ของรายได้รวมจากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายเป็นครั้งแรก เรามีคลื่นความถี่ที่ถือครองมากเพียงพอในการรองรับการเติบโตของดาต้า สิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ การทำให้รายได้กลับมาเติบโตอีกครั้ง และการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของรายได้จากการให้บริการ"นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ DTAC กล่าว
ทั้งนี้ DTAC ยังคงขยายโครงข่าย 4G และ 3G อย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนสถานีฐานเพิ่มขึ้นประมาณ 13,000 สถานี จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และได้ขยายโครงข่ายการให้บริการในระบบ 4G ครอบคลุมครบทั้ง 77 จังหวัด ณ สิ้นไตรมาส 1/59 ทำให้คุณภาพของโครงข่ายและการรับรู้ ตลอดจนความมั่นใจในการใช้งานของลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการในระบบ 4G เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1 ล้านรายในช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 2.9 ล้านราย ณ สิ้นไตรมาส 1/59 บริษัทมีจำนวนผู้ใช้บริการรวมในระบบทั้งสิ้น 25.5 ล้าน ในจำนวนนี้ 91% ได้จดทะเบียนภายใต้ดีแทค ไตรเน็ต
นอกจากนี้ บริษัทยังได้วางแผนในการเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการ 4G ด้วยการขยายแบนด์วิธบนคลื่นความถี่ 1800 MHz เพิ่มอีก 5 MHz เป็น 20 MHz ทำให้บริษัทเป็นผู้ให้บริการรายเดียวที่ให้บริการ 4G ได้ด้วยแบนวิธที่กว้างที่สุดถึง 20 MHz บนคลื่นความถี่ 1800 MHz เพียงคลื่นความถี่เดียว ซึ่งจะให้บริการร่วมกับ 4G บนคลื่น 2100 MHz อีก 5 MHz ทำให้บริษัทเป็นเครือข่ายเดียวที่ลูกค้าสามารถใช้งานกับอุปกรณ์มือถือ 4G ได้ทุกรุ่นทุกยี่ห้อในตลาด นอกจากนี้ ยังจะขยายโครงข่ายการให้บริการ 4G ให้ครบ 878 อำเภอ ทั่วประเทศภายในสิ้นไตรมาส 3/59
ปัจจุบันมีปริมาณคลื่นความถี่ทั้งหมดจำนวน 50 MHz ที่ถือครองอยู่ ซึ่งมากพอสำหรับการให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น บริษัทจึงตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz ที่กำลังจะมีขึ้นในครั้งใหม่นี้ อย่างไรก็ตามเพื่อความมั่นใจในการเติบโตอย่างยั่งยืน บริษัทยังมุ่งมั่นที่จะจัดหาคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอที่จะรองรับฐานลูกค้าที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะมีคลื่นความถี่ตามชุดที่ถือครองหมดสัมปทานประมาณปี 2561 เพิ่มเติมจากคลื่น 2100 MHz ที่บริษัทยังถือครองใบอนุญาตซึ่งมีอายุใช้งานถึงปี 2570