นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) กล่าวว่า ตั้งเป้ารายได้ค่ารักษาพยาบาลปีนี้เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก จากปี 58 ที่ 5.8 พันล้านบาท ในส่วนของกำไรสุทธิน่าจะเติบโตจากระดับ 527.33 ล้านบาทในปีก่อนอย่างมาก เพราะการฟื้นตัวดีขึ้นของโรงพยาบาลเวิลด์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ (WMC) ซึ่งใกล้ถึงจุดคุ้มทุน หลังกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในไตรมาส 4/58 ได้พลิกเป็นบวกแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้กำไรสุทธิทั้งปีกลับมาเติบโตได้ตามปกติ
ขณะที่โรงพยาบาลในแบรนด์เกษมราษฎร์ มีผลกำไรสุทธิดีมาตลอด ขณะที่โรงพยาบาลแบรนด์การุญเวชก็ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยปีนี้มีการเติบโตของคนไข้ในโครงการประกันสังคมคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 แสนคน จากปีก่อนที่ 6.8 แสนคน ทำให้คาดว่ารายได้กลุ่มผู้ป่วยประกันสังคมจะเติบโตเด่น หลังมีจำนวนผู้ประกันตนเพิ่มจากโรงพยาบาลในเครือที่เข้าร่วมโครงการเพิ่ม เช่น โรงพยาบาลการุญเวช รัตนาธิเบศร์ ที่เริ่มเปิดให้บริการเมื่อมิ.ย.58 และโรงพยาบาลเกษมราษฏร์ ศรีบุรินทร์ ที่กลับมารับผู้ป่วยประกันสังคมอีกครั้ง รายได้จะเติบโตทั้งจากจำนวนผู้ป่วยและราคาที่เพิ่มขึ้น
"ปี 59 ได้โควตาผู้ป่วยประกันสังคมทะลุ 1.1 ล้านคน บวกเพิ่ม 10% ซึ่งประมาณการทั้งปีคาดมีผู้มาใช้ 8 แสนคน จะเป็นตัวเลขที่ cover ปีนี้...ตลาดประกันสังคมยังเป็นตลาดที่มีกำไร เพราะเรารับผู้ป่วยที่มีความเป็นโรคซ้ำซ้อนมากกว่า 2 ได้ยังพอมีมาร์จิ้นดี ไม่เหมือน 30 บาทที่เราออกไป WMC คาดจะมีผลดำเนินงานที่ดีขึ้นตามลำดับ การรักษาโรคซับซ้อน เช่น ศูนย์ผ่าตัดหัวใจ ซึ่งลูกค้าต่างชาติให้การตอบรับที่ดี คาดว่ายังโตต่อเนื่องจากการทำสัญญาส่งต่อผู้ป่วยทั้งจากจีนและตะวันออกกลาง เช่น โอมาน ที่ได้รับการแนะนำจากสถานทูต"นายแพทย์เฉลิม กล่าว
นายแพทย์เฉลิม กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มผลดำเนินไตรมาส 1/59 คาดว่าดีกว่างวดเดียวกันปีก่อน หลังสามารถทำรายได้เป็นไปตามเป้า และเชื่อว่ากำไรจะสูงกว่าไตรมาส 1/58 ที่มีกำไรสุทธิ 94.79 ล้านบาท
สำหรับตามแผนธุรกิจในปี 59-60 บริษัทเตรียมเงินรองรับการลงทุนไม่มาก เพราะไม่มีการก่อสร้างโครงการใหญ่ ส่วนใหญ่การลงทุนจะอยู่ในกลุ่มโรงพยาบาลขนาดกลาง-เล็ก มูลค่าลงทุนราว 1.5 พันล้านบาท โดยจะขยายโรงพยาบาลเพิ่ม 5 แห่ง เป็นการทยอยก่อสร้างและเปิดดำเนินการ ซึ่งจะทำให้สิ้นปี 60 จะมีโรงพยาบาลในเครือ 16 แห่ง จากสิ้นปี 58 ที่ 11 แห่ง
โดยปีนี้คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รามคำแหง ที่คาดจะเปิดไตรมาส 3/59 มูลค่าลงทุน 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการโอนย้ายจากถนนสุขาภิบาล 3 ไปฝั่งตรงข้าม เพื่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีแผนเปิดโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยจะอัพเกรดคลินิกแม่สายซึ่งก่อสร้างเสร็จแล้วเหลือเพียงการใส่เตียงคงใช้เงินอีกราว 10 ล้านบาท ถัดไปจะก่อสร้างโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ติดชายแดนลาว ขนาด 30 เตียง ซึ่งปัจจุบันมีที่ดินอยู่แล้ว คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 80 ล้านบาท
สำหรับโซนตะวันออกบริษัทยังซื้อที่ดินไว้ 2 แปลง ที่อ.กบินทร์บุรี 10 ไร่ มีแผนก่อสร้างโรงพยาบาล คาดใช้เงิน 500 ล้านบาท พื้นที่ราว 10,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) และที่อรัญประเทศ 20 ไร่ มูลค่าลงทุนราว 500 ล้านบาท พื้นที่ 10,000 ตร.ม. ใกล้พื้นที่ปอยเปต ซึ่งเป็นด่านสำคัญทางเศรษฐกิจที่ดีมาก จากการสำรวจพบว่ามีแพทย์ที่ต้องการทำงานกับกลุ่มบริษัทจำนวนมาก ซึ่งทั้งสองโครงการดังกล่าวอาจเลื่อนไปเปิดในช่วงปี 61
นายแพทย์เฉลิม กล่าวว่า แผนการขยายโรงพยาบาลของกลุ่มบริษัทจะมีให้ครบ 3 ประเภท ครอบคลุมการรองรับกลุ่มผู้ป่วยทุกกลุ่ม โดยภายใต้โรงพยาบาลการุญเวช จะเน้นรองรับกลุ่มลูกค้าในโครงการประกันสังคม การก่อสร้างจะใช้พื้นที่ไม่มากราว 10,000 ตร.ม. และการลงทุนก็จะต่ำ
ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ จะรองรับกลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลาง ซึ่งนับเป็นโรงพยาบาลที่มีมากที่สุดในกลุ่ม และมีแผนที่จะสร้างในบริเวณใกล้เคียงชายแดน เช่น แม่สาย รองรับลูกค้าเมียนมาร์จากท่าขี้เหล็ก รวมถึงในอ.เชียงของ ซึ่งใกล้กับชายแดนไทย ลาว และ จีน อกจากนี้กลุ่มบริษัทยังมีการดำเนินงานภายใต้แบรนด์ WMC เน้นรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง ทำให้สามารถรองรับกลุ่มลูกค้าต่างชาติได้มากขึ้นด้วย
ส่วนแผนการขยายงานต่างประเทศนั้น เมื่อเดือนมี.ค.ได้มีการเซ็นสัญญากับโรงพยาบาลในเมียนมาร์ เพื่อให้บริษัทเป็นพี่เลี้ยงจัดระบบบริการ ทั้งที่มัณฑะเลย์ ,ย่างกุ้ง โดยเซ็นสัญญา 6 ปี เป็นพี่เลี้ยงแต่ไม่ต้องร่วมลงทุน เพราะทางเมียนมาร์มีแผนจะสร้างโรงพยาบาล 5 รัฐใหญ่ เช่น มัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง อิรวดี เป็นต้น
"ปีนี้จะเป็นปีเทิร์นอราวน์ของกลุ่ม เพราะ WMC เริ่มมีรายได้แข็งแรงขึ้น โดยบางเดือนมี EBITDA เป็นบวก และปีนี้ก็ไม่มีลงทุนหนักกำลังเร่งเพิ่ม performance ปีนี้เราก็จะ Growth ทั้ง 3 ตัว คือผู้ป่วยเงินสด ยอดผู้ประกันตนเยอะที่สุดในกลุ่มโรงพยาบาล ซึ่งจะโตต่อหัวต่อคนและโตด้วยปริมาณ และโรงพยาบาลที่ซื้อมาใหม่จะโตต่อเนื่อง...ในอนาคตสังคมผู้สูงอายุเป็นตลาดที่ใหญ่มาก เราก็เก็บที่ดินไว้แล้วและอยู่ระหว่างการออกแบบก็จะมีโรงพยาบาลมากกว่า 15 แห่งในอนาคต"นายแพทย์เฉลิม กล่าว
นายแพทย์เฉลิม กล่าวอีกว่า ปีที่ผ่านมาสัดส่วนรายได้ของกลุ่มบริษัทมาจากผู้ป่วยเงินสดราว 65% ,ผู้ป่วยประกันสังคมราว 34% มีโรงพยาบาลทั้งหมด 11 สาขา แบ่งเป็นเกษมราษฎร์ 6 แห่ง , WMC 1 แห่ง และการุญเวช 4 แห่ง จำนวนเตียงจดทะเบียน 2,178 เตียง จากจำนวนเตียงสูงสุดตามโครงการโรงพยาบาลที่ 3,000 เตียง
"เกษมราษฎร์เป็นแบรนด์ที่มีกำไรสุทธิมาตลอด ปี 59 เศรษฐกิจในประเทศจะเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่เกษมราษฎร์ยังไปได้ ขณะที่ผู้ป่วยประกันสังคม ยังมีมาร์จิ้น WMC ปีนี้ ใกล้ break event ลูกค้าต่างชาติก็ต่อเนื่อง เช่น โอมาน ก็มียอดผ่านมาทางสถานทูต ซึ่งขณะนี้มีเคสใหม่ก็จะส่งมาที่นี่ทั้งหมด รวมทั้งคนจีน พม่า เราขยายได้มากขึ้น และตอนนี้ได้การ์ต้าเพิ่มก็เริ่มมีมารักษาที่เรา ซึ่งคนไข้ต่างชาติเหล่านี้แต่ละ bill ใหญ่มาก"นายแพทย์เฉลิม กล่าว