นายศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) เปิดเผยว่า สมาคมระบบการสื่อสารการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก (SWIFT) ร่วมกับธนาคาร 21 แห่งทั่วโลกเริ่มดำเนินโครงการนำร่องในนวัตกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศซึ่งมีเป้าหมายที่จะอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ทำธุรกรรมผ่านธนาคารตัวแทนต่างประเทศ (Correspondent banking) โดยนวัตกรรมนี้จะช่วยเพิ่มความรวดเร็ว ความโปร่งใส ตลอดจนความถูกต้องแม่นยำของการชำระเงินข้ามประเทศ
สำหรับโครงการดังกล่าวมีกำหนดสิ้นสุดการทดสอบในเดือนธันวาคมนี้ โดยจะมีการเปิดเผยผลจากการดำเนินโครงการครั้งแรกในการประชุม Sibos 2016 ที่นครเจนีวาในเดือนกันยายน ซึ่งมีธนาคารที่ร่วมโครงการกลุ่มแรก ได้แก่ ANS, Bank of America Merrill Lynch, Bank of China, Bank of New York Mellon, Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Barclays, BNP Paribas, Citi, Danske Bank, DBS, ICBC, INGBank, IntesaSanpaolo, JPMorgan Chase, Mizuho, Nordea, Royal Bank of Canada, SMBC, Standard Chartered, UniCredit และ Wells Fargo
ทั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรธนาคารชั้นนำทั้งหมดจะทดสอบผลิตภัณฑ์ผ่านโครงการนี้และโครงการในอนาคต โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการปรับปรุงบริการการชำระเงินระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับลูกค้าบรรษัทที่มีแผนจะนำนวัตกรรมเข้ามาใช้เพิ่มเติม ตลอดจนผสานเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในระบบการชำระเงิน รวมทั้งกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับประสิทธิภาพของบริการเพิ่มเติมซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มลูกค้า ทั้งยังช่วยลดต้นทุนและข้อขัดแย้งที่เกิดจากการปฏิบัติตามข้อกำหนดสภาพคล่อง
หลังจาก SWIFT ดำเนินโครงการเมื่อเดือนม.ค.59 จนถึงขณะนี้ มีธนาคาร 51 แห่งที่เข้าร่วมจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่เกี่ยวกับระดับการบริการ (SLA) การชำระเงินข้ามประเทศ โดยล่าสุดธนาคารที่ประกาศเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย, Standard Bank, Investec, Resona Bank, Tadhamon International Islamic Bank, และ Bank of the Philippine Islands (BPI)
นายศีลวัต กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารไทยเพียงแห่งเดียวที่ SWIFT เลือกให้เข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบชำระเงินใหม่ที่มีความก้าวหน้า สอดคล้องกับพัฒนาการของการค้าในยุคดิจิทัลและเป็นที่ยอมรับของสถาบันการเงินชั้นนำทั่วโลก ทั้งนี้บริการใหม่ซึ่งจะเปิดตัวในโครงการระยะแรกจะเน้นที่การชำระเงินระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ บริการนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจระหว่างประเทศ ปรับปรุงความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานด้านการเงินของบริษัท โดยลูกค้าจะได้รับชำระเงินในวันเดียวกัน ค่าธรรมเนียมที่มีความเหมาะสมและคาดการณ์ได้ มีระบบติดตามการชำระเงินจากต้นทางถึงปลายทาง และมีการถ่ายโอนข้อมูลการชำระเงินในเชิงลึกด้วยนวัตกรรมด้านการชำระเงินนี้ ธนาคารจะสามารถใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในการปรับปรุงการชำระเงินระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ได้อย่างรวดเร็วและเห็นผลเป็นรูปธรรมสำหรับลูกค้าบรรษัทของธนาคารที่คาดว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนธุรกรรมเงินโอนต่างประเทศในภาพรวมของธนาคารจากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 500,000 ธุรกรรมต่อปี โดยธนาคารจะได้รับประโยชน์จากโครงการโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบบที่มีอยู่แล้วมากมายนัก