บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) คาดความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในปีนี้เติบโต 3-5% จากปีก่อน ส่วนจะมีโอกาสขยายตัวในอัตราสูงกว่านี้ได้หรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับโครงการลงทุนของภาครัฐด้วย ขณะที่เตรียมเข้าร่วมลงทุนในโรงงานปูนซีเมนต์ในเวียดนาม ที่มองว่าตลาดยังคงเติบโตมาก สอดคล้องกับแผนการขยายงานในอาเซียน ที่ล่าสุดมีโรงงานปูนซีเมนต์ที่ดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้างครอบคลุมทั้งในไทย,กัมพูชา,อินโดนีเซีย,ลาว และเมียนมาร์
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCC กล่าวว่า ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปีนี้คาดว่าอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ราว 3-5% จากราว 40 ล้านตันในปีก่อน โดยมีโอกาสปรับขึ้นในด้านสูงหรือไม่นั้น ขึ้นกับการดำเนินโครงการลงทุนสาธารณูปโภคขนาดใหญ่จากภาครัฐเป็นสำคัญ ซึ่งหากออกมาเป็นรูปธรรมก็จะเพิ่มโอกาสของความต้องการใช้ในกลุ่มของภาคที่อยู่อาศัยและภาคเพื่อการพาณิชย์ตามมาด้วย โดยความต้องการใช้ปูนในช่วงไตรมาส 1/59 เติบโตราว 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเติบโตในกลุ่มโครงการภาครัฐราว 20% ขณะที่กลุ่มที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการใช้ปูนราวครึ่งหนึ่งของตลาดนั้น ยังคงหดตัวราว 2% สะท้อนความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ดีนัก ส่วนกลุ่มเพื่อการพาณิชย์ มีอัตราการใช้ปูนทรงตัว
ขณะที่การแข่งขันของธุรกิจปูนซีเมนต์ในประเทศยังคงมีความรุนแรง จากกำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งกระทบทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก โดยราคาปูนซีเมนต์ในประเทศช่วงไตรมาส 1/59 ลดลงราว 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศนั้นยังคงมีมุมมองไม่ชัดเจน ซึ่งยังต้องรอพิจารณาอีก 1-2 เดือน แม้ว่าหลายฝ่ายจะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ราว 3% ก็ตาม เพราะยังต้องติดตามกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นก่อน โดยในส่วนการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ประกาศออกมานั้น แม้ว่าจะเห็นตัวเลขการลงทุนจำนวนมากก็ตาม แต่เป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาว ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้สินค้าต่างๆให้เพิ่มมากขึ้นแต่ก็ไม่ใช่โดยทันที
ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังไม่กระทบต่อการผลิตของโรงงานกระดาษของบริษัท แต่ได้มีการลดการใช้น้ำลง 30% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้ง ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น อาจจะกระทบต่อรายได้ของบริษัทบ้างเพราะบริษัทนับว่าเป็นผู้ส่งออกสินค้าสุทธิรายหนึ่ง
นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/59 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1.36 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมากกว่านักวิเคราะห์คาด เนื่องจากภาพรวมของธุรกิจปิโตรเคมีที่ดีขึ้น และการวิจัยและพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถแข่งขันได้ดีและทำกำไรได้สูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มมาร์จิ้นได้นอกเหนือจากสินค้าปกติ โดยในไตรมาส 1/59 มีสัดส่วนยอดขาย HVA ราว 39% ของยอดขายรวม เทียบกับ 37% ของยอดขายในปีที่แล้ว นอกจากนี้ในกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์กระดาษ ยังเติบโตได้ดีตามภาวะตลาดด้วย
นายรุ่งโรจน์ กล่าวถึงความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในเวียดนามในไตรมาส 1/59 ขยายตัวราว 9% แต่ยังคงมีกำลังการผลิตในประเทศเหลือ โดยมีกำลังการผลิตรวมราว 83 ล้านตัน/ปี ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ราว 60 ล้านตัน/ปี ซึ่งโรงงานปูนในเวียดนามส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งพื้นที่ที่มีวัตถุดิบ ขณะที่ภาคใต้มีผู้ผลิตไม่มากนัก แต่การพิจารณาเพื่อเข้าไปร่วมลงทุนนั้นบริษัทได้พิจารณาทั้งสองบริเวณ
ปัจจุบัน SCC มีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ที่เริ่มดำเนินการแล้วใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย,กัมพูชา และอินโดนีเซีย กำลังการผลิตรวมกว่า 25 ล้านตัน/ปี ซึ่งในส่วนนี้เป็นกำลังการผลิตในประเทศราว 23 ล้านตัน/ปี และอยู่ระหว่างการก่อสร้างใน 2 ประเทศ คือ เมียนมาร์ ซึ่งจะเริ่มเดินสายการผลิตในช่วงไตรมาส 3/59 และในลาว คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตในกลางปี 60 ซึ่งเมื่อทุกโรงงานแล้วเสร็จจะทำให้มีกำลังการผลิตปูนของกลุ่มบริษัทในอาเซียนเพิ่มเป็นราว 30 ล้านตัน/ปี
“เรายังเน้นการลงทุนในอาเซียน โครงการที่ทำอยู่ก็จะทำจนจบ และดูลู่ทางขยายเพิ่ม ธุรกิจซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง การขยายเพิ่มจะเป็นการหาพันธมิตรมากกว่า greenfield...โรงงานปูนในเวียดนามเราอยู่ระหว่างกำลังดูอยู่ เวียดนามมีกำลังการผลิตเหลือ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือการไปหาพันธมิตรเพื่อร่วมลงทุนจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งเมื่อมีความชัดเจนก็จะแจ้งความคืบหน้าต่อไป"นายรุ่งโรจน์กล่าว
ด้านนายเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน SCC กล่าวว่า ธุรกิจปิโตรเคมีที่ดีขึ้นในช่วงไตรมาส 1/59 เป็นผลจากส่วนต่าง (สเปรด) ราคาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์หลักอย่างโพลีเอทิลีน (PE) เพิ่มขึ้นมาที่ราว 760 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากราว 700 เหรียญสหรัฐ/ตันในงวดปีก่อน ขณะที่ผลิตภัณฑ์โพลีโพรพิลีน (PP) อ่อนตัวลงบ้างมาที่ราว 590 เหรียญสหรัฐ/ตัน
อย่างไรก็ตามแนวโน้มโดยรวมสเปรดผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในปีนี้ยังอยู่ในระดับที่ดี จากความต้องการใช้สินค้าที่มีต่อเนื่อง ขณะที่ไม่มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาเพิ่มเติม โดยแนวโน้มธุรกิจปิโตรเคมียังเป็นขาขึ้นไปอีก 2-3 ปี
สำหรับงบลงทุนในปีนี้บริษัทตั้งเป้าไว้ที่ราว 5 หมื่นล้านบาท โดยในช่วงไตรมาส 1/59 ใช้ไปแล้วราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งงบลงทุนดังกล่าวเป็นงบผูกพันการลงทุนเดิม และการใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงาน รวมถึงการซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) ด้วย