นายสุชาติ วิริยะอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และพลังงาน บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟดำเนินนโยบายการอนุรักษ์และเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง ในปี 2558 ที่ผ่านมา มีโครงการด้านพลังงานใหม่ๆถึง 21 โครงการ สามารถลดการใช้พลังงานได้ทั้งสิ้น 12 ล้านเมกะจูลต่อปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas : GHG) ได้ 3,250 ตันคาร์บอนได์เทียบเท่า เป็นผลประหยัดถึง 19 ล้านบาท
“ซีพีเอฟนำมาตรฐานการเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม CPF SHE&En Standard ขยายไปยังสถานประกอบการของบริษัทในต่างประเทศ คาดว่าจะครอบคลุมทุกหน่วยธุรกิจทั่วโลกภายในปี 2560 โดยระบบนี้ได้รับการตรวจประเมินเพื่อการรับรองทั้งจากหน่วยรับรองภายนอก หรือ Third Party Audit และทีมตรวจประเมินของบริษัทเองที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานสากล" นายสุชาติ กล่าว
ในปี 2559 บริษัทตั้งเป้าการใช้พลังงานรวมต่อตันผลผลิตลดลงร้อยละ 10 เทียบกับปี 2558 โดยกลยุทธ์การดำเนินงานเปลี่ยนไปจาก Top to Down คือระดับบริหารสู่ระดับปฏิบัติการ เป็นลักษณะ Bottom to Top คือระดับปฏิบัติการสู่ระดับบริหาร ที่ส่งเสริมให้พนักงานทุกคนได้นำเสนอแนวคิดหรือวิธีการที่จะช่วยพัฒนาการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้บริษัทประสบความสำเร็จด้านการประหยัดและอนุรักษ์พลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
นายสุชาติ กล่าวอีกว่า ซีพีเอฟกำหนดนโยบายด้านพลังงานขององค์กร ตั้งแต่ปี 2547 ให้ทุกหน่วยงานร่วมกันคิดค้นและดำเนินโครงการด้านพลังงานมากถึงกว่า 1,000 โครงการ พบว่าในระยะ 10 ปี มีโครงการด้านพลังงานที่โดดเด่นกว่า 300 โครงการ ใช้งบลงทุน 450 ล้านบาท ช่วยประหยัดพลังงานชาติคิดเป็นเม็ดเงินกว่า 1,000 ล้านบาท
ในการจัดการด้านพลังงานของซีพีเอฟ ภายใต้ระบบมาตรฐานและกระบวนการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และพลังงานซีพีเอฟ (CPF Safety Health Environment and Energy Standard : CPF SHE&En Standard) ด้วยหลักการบริหารจัดการเชิงบูรณาการร่วมกัน ทั้งด้านพลังงาน น้ำ ของเสีย น้ำทิ้ง และอากาศ ตามแนวทาง 4Rs คือ การลดการใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการฟื้นฟูหรือนำทางเลือกใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเดิม (Replenish)
ในปีที่ผ่านมา บริษัทได้มีการทบทวนและปรับปรุงระบบ CPF SHE&En Standard โดยนำแนวทางสากล อาทิ Global Water Tool, Local Water Tool, GHG Reporting มาประยุกต์ใช้ นอกเหนือจากความสอดคล้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐาน ISO14001 OHSAS18001 อย่างเคร่งครัด
สำหรับโครงการด้านพลังงานที่โดดเด่น อาทิ ธุรกิจอาหารสัตว์ ทำโครงการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ของหม้อไอน้ำให้สามารถใช้เชื้อเพลิงชีวมวลแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ช่วยลดการใช้น้ำมันเตาได้กว่า 35.83 ล้านลิตร ลด GHG ได้มากกว่า 110.295 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ขณะที่ ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ มีโครงการฟาร์มสุกรรักษ์โลก (Green Farm) โดยติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) ทุกฟาร์มสามารถผลิตไฟฟ้าทดแทนการซื้อไฟฟ้าร้อยละ 45.4 ช่วยประหยัดค่าไฟ 122.67 ล้านบาท ช่วยลดการปล่อย GHG ได้ถึงกว่า 150,318 ตัดคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
ด้านธุรกิจอาหาร ทำโครงการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ได้ทั้งไบโอดีเซล (B100) มากถึง 1.48 ล้านลิต ทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลได้กว่า 0.92 ล้านลิตร ทั้งยังช่วยป้องกันน้ำมันพืชเก่ากลับเข้าสู่วงจรอาหารด้วย นอกจากนี้ ยังมีโครงการผลิตไบโอแก๊ส (Wastewater Biogas Capture and Utilization) ในโรงงานแปรรูปอาหารทั้งธุรกิจสัตว์บกและสัตว์น้ำ ด้วยการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย จากที่เป็นระบบหมักแบบไร้อากาศแบบเปิดเป็นระบบบ่อหมักไร้อากาศแบบปิด เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนของหม้อไอน้ำ (Steam Boiler) เทียบเท่าการใช้น้ำมันเตา 0.23 ล้านลิตร ช่วยลดการปล่อย GHG ได้มากกว่า 698 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี