SCC วางเป้านำองค์กรโตเท่ากับหรือเร็วกว่าตลาดอาเซียนที่คาดเศรษฐกิจโตปีละราว 5%

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 3, 2016 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) วางเป้าหมายนำพาองค์กรเครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) ให้เติบโตเท่ากับตลาดอาเซียน หรือเร็วกว่าตลาดอาเซียนที่มองว่าเศรษฐกิจเติบโตได้ปีละราว 5% ภายใต้การตัดสินใจที่รวดเร็วและคล่องตัวให้ทันกับสภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูง ขณะที่ยังวาง 2 กลยุทธ์หลักของเอสซีจีที่มุ่งขยายฐานธุรกิจในอาเซียน และการมุ่งวิจัยและพัฒนา เพิ่มคุณภาพกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) ซึ่งมีมาร์จิ้นสูง เพื่อรองรับธุรกิจปิโตรเคมีซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่จะชะลอตัวลง หลังจากมองวัฏจักรขาขึ้นจะอยู่ในช่วง 2-3 ปีจากนี้เท่านั้น ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง รวมถึงบรรจุภัณฑ์อาจยังไม่ได้ขยายตัวมากนัก

พร้อมกันนี้ยังเริ่มเข้าไปศึกษาโอกาสตลาดทางจีนตอนใต้ ที่เห็นศักยภาพการเติบโต หลังจะมีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมใหม่เพิ่มเติม นอกเหนือจากการรุกตลาดอาเซียนที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้

"เรามีฐานที่ดีแต่จะทำอย่างไรที่จะใช้ฐานพัฒนาธุรกิจให้เติบโตมากกว่านี้ ทางหนึ่งที่เรามองคือทำอย่างไรในเรื่องการตัดสินใจ การขยายหรือพัฒนา ปรับปรุงธุรกิจให้เร็วขึ้นกว่าเดิมได้ ข้างในคุยกันที่ speed ความรวดเร็วและความคล่องตัว ซึ่งบริษัทใหญ่มากๆก็มักจะเคลื่อนตัวช้าไม่ทันคู่แข่ง เอสซีจีใหญ่ขนาดนี้เรามีพนักงาน 5 หมื่นกว่าคนทำอย่างไรให้การตัดสินใจเร็วขึ้น เพื่อให้ทันตามสภาพตลาด แข่งขันได้และเป็นองค์กรที่มีความคล่องตัว...เราหันหัวเรือมาถูกเป้า แต่จะทำอย่างไรให้สามารถพัฒนาองค์กรที่ใหญ่ขนาดนี้ให้สามารถเติบโตไปอย่างน้อยเท่ากับตลาด หรือเร็วกว่าตลาด"นายรุ่งโรจน์ กล่าว

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า เมื่อเทียบกับตลาดอาเซียนซึ่งมีเศรษฐกิจเติบโตปีละประมาณ 5% นั้น โดยในปีที่ผ่านมาเอสซีจี มีปริมาณขายเติบโตได้ราว 3-5% เท่านั้น และมีรายได้จากธุรกิจที่มีฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียนราว 12% ของยอดขาย ขณะที่เศรษฐกิจของไทยคิดเป็นราว 20% ของอาเซียนเท่านั้น ทำให้มองเห็นโอกาสของการเติบโตในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังเห็นถึงศักยภาพการขยายเข้าไปยังภูมิภาคจีนตอนใต้ ที่ติดกับอาเซียนด้วย และมีประชากรมากถึง 60-80 ล้านคน และยังเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อ อีกทั้งยังจะมีการเปิดเส้นทางคมนาคมใหม่ๆเพื่อเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคอาเซียนด้วย

"จีนตอนใต้ โอกาสในเรื่องการขายมีแน่นอน ตลาดมีการเติบโตระดับหนึ่ง ประชากร 60 กว่าล้านคนใหญ่กว่าไทย ในแง่การซื้อมีโอกาส อุตสาหกรรมก็เกิดขึ้นพอสมควร เราก็จะเข้าไปสำรวจมากขึ้น เดิมเราไม่ได้โฟกัสมาก่อนก็จะเริ่มเข้าไปศึกษามากขึ้น"นายรุ่งโรจน์ กล่าว

นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับกลยุทธ์หลักของเอสซีจีต่อจากนี้จะมี 2 ทิศทางใหญ่ คือ ตลาดที่ยังคงเน้นอาเซียน และการขยายฐานธุรกิจในอาเซียน โดยงบลงทุนที่ตั้งไว้ปีละประมาณ 5 หมื่นล้านบาทนั้น ก็จะถูกใช้เกือบทั้งหมดเพื่อขยายธุรกิจในอาเซียน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการโรงปูนซีเมนต์ในเมียนมาร์ และลาว ขณะที่ยังมองโอกาสการเข้าไปซื้อและร่วมลงทุน (M&A) โรงปูนซีเมนต์ในเวียดนามด้วย

ตลอดจนการจะเข้าไปลงทุนในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในเวียดนาม ที่ปัจจุบันมีความล่าช้ากว่าแผนหลังจาก Qatar Petroleum ขอถอนการลงทุนออกไป โดยคาดว่าในช่วงกลางปีนี้โครงการจะมีความคืบหน้าระดับหนึ่ง แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถได้ข้อสรุปหรือไม่เพราะต้องพิจารณาจากหลายส่วน โดยเฉพาะพันธมิตรใหม่ที่จะเข้ามาแทนกลุ่ม Qatar Petroleum ซึ่งยังคาดหวังว่าโครงการอาจจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีหน้า

สำหรับอีกกลยุทธ์หนึ่งของเอสซีจี นอกเหนือจากการขยายฐานธุรกิจในอาเซียนแล้ว ยังจะมุ่งวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อเพิ่มคุณภาพสินค้า HVA ที่มีมาร์จิ้นสูง โดยปีนี้มีเป้าหมายจะใช้งบในการวิจัยและพัฒนา (R&D) กว่า 4 พันล้านบาท หรือราว 1% ของยอดขาย และมีทีมวิจัยมากกว่า 1 พันคน เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าในแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียน รองรับการแข่งขันที่มีมากขึ้น ปัจจุบัน เอสซีจีมีการลงทุนในอาเซียนรวม 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย,อินโดนีเซีย,เวียดนาม,เมียนมาร์,ลาว,กัมพูชา,ฟิลิปปินส์,สิงคโปร์และมาเลเซีย โดยมีสินทรัพย์รวมในอาเซียน นอกเหนือจากไทยคิดเป็นมูลค่าราว 1.1 แสนล้านบาท หรือประมาณ 21% ของสินทรัพย์รวม ขณะที่เอสซีจีนับว่าเป็นผู้นำลำดับต้นในอาเซียน สำหรับธุรกิจซีเมนต์ ,บรรจุภัณฑ์

ณ สิ้นไตรมาส 1/59 เอสซีจีมีกำไรสุทธิ 1.36 หมื่นล้านบาท โดยกำไรส่วนใหญ่ราว 67% มาจากธุรกิจปิโตรเคมี ขณะที่ราว 24% มาจากธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ส่วนที่เหลืออีกราว 9% มาจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า ธุรกิจปิโตรเคมีที่สร้างผลกำไรหลักให้กับเอสซีจีจะมียังอยู่ในวัฏจักรขาขึ้นไปอีก 2-3 ปีข้างหน้าก่อนจะเริ่มชะลอตัวลงบ้าง ซึ่งบริษัทก็ได้เตรียมรับมือด้วยการมุ่งที่จะพัฒนาสินค้านวัตกรรมเพื่อให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ รวมถึงยังคาดว่าจะมีโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนามเข้ามาเสริม ตลอดจนโครงการร่วมทุน 30% ในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ซึ่งเป็นผู้ผลิตโอเลฟินส์ และโพลีโอเลฟินส์ในอินโดนีเซียนั้น ได้มีการขยายกำลังการผลิตเอทิลีน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ขึ้นอีกราว 43% เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ก็คาดว่าจะมีการหารือเพื่อขยายปิโตรเคมีขั้นปลายต่อไป

ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างที่เอสซีจีอยู่ระหว่างการขยายลงทุนในอาเซียนนั้น อาจจะยังเติบโตไม่ทันในช่วงดังกล่าว แต่ก็มองว่ายังมีศักยภาพการเติบโตได้อีกมาก จากการที่ทุกประเทศในอาเซียนให้ความสนใจขยายโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้เกิดการการลงทุนพัฒนาโครงการอื่นๆตามมาด้วย และจะก่อให้เกิดการใช้วัสดุก่อสร้างและซีเมนต์มากขึ้นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ