นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ให้รวมการเดินรถไฟฟ้าช่วงต่อเชื่อม สถานีเตาปูน-บางซื่อ จำนวน 1 สถานี ระยะทาง 1 กิโลเมตร ที่เป็นส่วนต่อขยายออกมาจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือ MRT ไปไว้กับสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค หลังจากการเจรจากับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ซึ่งเป็นผู้เดินรถ MRT ไม่ประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ การหาเอกชนมาเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ในสัปดาห์หน้าเพื่อพิจารณาตัดสินใจว่าจะใช้รูปแบบการเจรจากับ BEM ซึ่งเป็นเอกชนรายเดิม หรือเปิดประมูลใหม่
นายอาคม เปิดเผยว่า ครม.รับทราบผลการเจรจาระหว่างคณะกรรมการมาตรา 13 กับ BEM โดยให้ความเห็นชอบการยกเลิกมติ ครม.เดิม 3 ครั้งเมื่อปี 53 ที่อนุมัติให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมการงานกับเอกชน พ.ศ.2535 และปี 57 อนุมัติให้เจรจากับเอกชนให้เดินรถ 1 สถานีจากสถานีเตาปูน-สถานีบางซื่อโดยให้ระยะเวลาเดินรถสิ้นสุดปี 57 และล่าสุด 19 เม.ย.59 ที่ยืนยันตามมติ ครม.ดังกล่าวและให้กลับมาเจรจากับเอกชนอีกครั้ง
แต่ในวันนี้ได้นำเสนอว่าการเจรจากับเอกชนเพื่อให้เดินรถ 1 สถานีดังกล่าวถึงปี 72 เท่ากับกำหนดสิ้นสุดสัมปทานเดิมนั้น ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเอกชนประเมินว่าจะไม่คุ้มกับการลงทุน
ดังนั้น ครม.จึงสั่งการให้นำการเดินรถ 1 สถานีดังกล่าวไปรวมกับสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ โดยกระทรวงคมนาคมจะนำเสนอต่อคณะกรรมการ PPP ในสัปดาห์หน้าเพื่อพิจารณาว่าจะเปิดประมูลใหม่ หรือจะให้เจรจากับ BEM ที่เดินรถในสายสีน้ำเงินอยู่แล้ว โดยจะให้เอกชนเข้าร่วมทุนเป็น PPP Net Cost ซึ่งเป็นรูปแบบที่รัฐลงทุนงานก่อสร้างและเอกชนจัดหาขบวนรถและบริหารการเดินรถ จากเดิม PPP Gross Cost หรือว่าจ้างเอกชนเดินรถเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้รถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ๋-บางซื่อ ใกล้เปิดให้บริการแล้ว ทางกระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) จัดหาการเดินรถช่วงต่อเชื่อมระหว่างสถานีเตาปูนไปสถานีบางซื่อเป็นการชั่วครวก่อน ซึ่งมีทางเลือก 2 แนวทาง คือจะให้มีการบริการรถ shutter bus ซึ่งจะใช้รถเมล์หรือจะใช้รถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ให้บริการจากสถานีบางซ่อนไปสถานีบางซื่อ ขณะที่จะเร่งให้ผู้ที่ได้สัญญาเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเดินรถในส่วนสถานีเตาปูนไปสถานีบางซื่อให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการอย่างน้อย 15 เดือน
ด้านนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนกุล ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า รฟม.จะหารือกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ รฟท.เพื่อสรุปค่าใช้จ่ายที่จะนำรถมาวิ่งระหว่างสถานีบางซื่อ-สถานีเตาปูน และจะเสนอเรื่องเข้าคณะกรรมการ รฟม.จากนั้นจะเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป โดยเยื้องต้นหากใช้รถของ ขสมก.จะจัดรถไว้ 12 คันรองรับการเดินทางในเส้นทางดังกล่าว
ส่วนการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนั้น หากคณะกรรมการ PPP พิจารณาแนวทางใดแล้วก็จะนำเสนอต่อครม. เมื่อ ครม.มีมติแล้ว ทางรฟม.จะเร่งจัดตั้งคณะกรรมการมาตรา 13 ภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ขึ้นมาดำเนินการจัดทำร่างทีโออาร์หากตัดสินใจเปิดประมูลเพื่อทำงานได้เลย หรือจะเร่งรัดการเจรจาโดยตรงกับผู้เดินรถรายเดิม
ทั้งนี้ ผู้ที่จะให้บริการเดินรถสายสีนำเงินส่วนต่อขยายจะใช้รถไฟฟ้า 28 ขบวน รวมการเดินรถ 1 สถานีบางซื่อ-สถานีเตาปูน ซึ่งทำให้เกิดความคุ้มค่าการลงทุนหากเปิดประมูลเพื่อเดินรถ 1 สถานีใช้รถไฟฟ้า 2 ขบวนซึ่งจะมีต้นทุนสูงกว่า โดยสถานีเตาปูนออกแบบมาให้เป็นสถานีเชื่อมต่อ (Interchange) ระหว่างสายสีน้ำเงินกับสายสีม่วง ซึ่งขณะนี้สถานีบางซื่อได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว ทั้งนี้ สถานีเตาปูนจะมี 2 ชานชลาสำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
นายพีระยุทธ กล่าวว่า ในเดือน มิ.ย.นี้ รฟม.จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปทดลองนั่งรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ โดยวันที่ 10 พ.ค. กรรมาธิการคมนาคม จะทดลองนั่ง พร้อมดูสถานีเตาปูนจุดเชื่อมต่อ ทั้งนี้ หลังเปิดเดินรถสายสีม่วงอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ส.ค.จะเก็บค่าโดยสาร กม.ละ 2 บาท สามารถใช้ตั๋วโดยสารเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงินได้ โดยราคาค่าโดยสายทั้งสายสูงสุดอยู่ที่ 70 บาท เริ่มต้นที่ 16 บาท