โอกาสในการปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นนั้นมีค่อนข้างจำกัดในระยะปานกลาง เนื่องจากบริษัทเผชิญกับความเสี่ยงจากราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มและมีเสถียรภาพมากขึ้น หรือหากบริษัทสามารถควบคุมอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ระดับต่ำเป็นระยะเวลานาน
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมากและเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจเกิดจากอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย และ/หรืออัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวม ที่ด้อยกว่าประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งอย่างมีนัยสำคัญ หรือเกิดจากการซื้อกิจการหรือลงทุนโดยใช้หนี้สินจำนวนมาก
SGP ก่อตั้งในปี 2544 โดยกลุ่มตระกูลวีรบวรพงศ์ และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2551 ณ เดือนธันวาคม 2558 กลุ่มตระกูลวีรบวรพงศ์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัทในสัดส่วน 61%
สถานะทางธุรกิจของบริษัทในประเทศไทยจัดว่าแข็งแกร่งโดยบริษัทเป็นผู้ค้าก๊าซ LPG รายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ธุรกิจของบริษัทในประเทศไทยประกอบด้วยการค้าก๊าซ LPG ภายใต้ตราสัญลักษณ์ “สยามแก๊ส" และ “ยูนิคแก๊ส" ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันตามปริมาณการขาย อยู่ที่ 23.6% ในปี 2558 รองจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 37.6% บริษัทมีโครงข่ายการกระจายสินค้าที่แข็งแกร่งจากการมีคลังเก็บก๊าซ LPG ขนาดใหญ่รวมทั้งสถานีบรรจุและให้บริการก๊าซที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ บริษัทยังมีระบบขนส่งของตนเองทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อสนับสนุนธุรกิจค้าก๊าซ LPG ภายในประเทศของบริษัทอีกด้วย ธุรกิจจำหน่ายก๊าซ LPG ภายในประเทศสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงให้แก่บริษัทตลอด 5 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กำไรจากการค้าในประเทศเริ่มถดถอยลงจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงของการค้าก๊าซ LPGในภาคยานยนต์
บริษัทเริ่มขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศตั้งแต่ปี 2553 โดยได้ดำเนินธุรกิจค้าก๊าซ LPG ในประเทศจีน เวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย รวมถึงธุรกิจการค้านอกชายฝั่งทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออก บริษัทเป็นเจ้าของคลังเก็บก๊าซใต้ดินขนาดใหญ่ 2 แห่งในประเทศจีน ซึ่งสามารถเก็บก๊าซ LPG ได้ทั้งสิ้น 300,000 ตัน อีกทั้งยังมีคลังลอยน้ำที่ประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีขนาดบรรจุ 45,000 ตันเพื่อสนับสนุนการค้าก๊าซ LPG นอกชายฝั่งทะเล ธุรกิจค้าก๊าซ LPG ในต่างประเทศนั้นจะให้โอกาสในการเติบโตและช่วยกระจายความเสี่ยงเชิงภูมิภาคแก่ธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของบริษัทนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องจากบริษัทจะต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกซึ่งส่งผลให้กำไรของบริษัทมีความผันผวนด้วยเช่นกัน
รายได้ของบริษัทในปี 2558 เท่ากับ 58,082 ล้านบาท ลดลง 6% เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งสะท้อนถึงการหดตัวของปริมาณการจำหน่ายก๊าซ LPG ในประเทศไทยและการลดลงของราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลก ระดับความเสี่ยงจากราคาก๊าซ LPG ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการขยายตัวของปริมาณก๊าซที่จำหน่ายในต่างประเทศ ทั้งนี้ ปริมาณก๊าซที่จำหน่ายในต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 40% จากปี 2557 เป็น 1.8 ล้านตันในปี 2558 หรือคิดเป็น 63% ของปริมาณจำหน่ายทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 53% ในปี 2557 เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้น อันเป็นผลจากความผันผวนของราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกที่ลดลง การเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซในไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 และปริมาณจำหน่ายก๊าซในประเทศจีนที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 2,117 ล้านบาทในปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับ 219 ล้านบาทในปี 2557 หรือค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 1,364 ล้านบาท
อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนลดลงเหลือ 51.4% ในปี 2558 จาก 57.8% ในปี 2557 อันเนื่องจากการผ่อนชำระเงินกู้ยืมและความต้องการเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทที่น้อยลงอย่างมากจากราคาก๊าซ LPG ที่ทรุดตัวลงในช่วงหลังจากปี 2557 ณ เดือนธันวาคม 2558 บริษัทมีเงินกู้รวมจำนวน 10,351 ล้านบาท โดยหุ้นกู้และเงินกู้ระยะสั้นคิดเป็นสัดส่วนอย่างละ 46% ของเงินกู้รวม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 บริษัทได้ออกหุ้นกู้จำนวน 3,000 ล้านบาทเพื่อใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดจำนวน 1,500 ล้านบาทและใช้คืนหนี้เงินกู้ระยะสั้น การออกหุ้นกู้ใหม่ในครั้งนี้ช่วยรักษาอัตราดอกเบี้ยของบริษัทโดยรวมเอาไว้ให้อยู่ในระดับต่ำและลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องระยะสั้นให้แก่บริษัท
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจการค้าก๊าซ LPG ภายในประเทศของบริษัทจะยังคงสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงซึ่งจะช่วยลดผลกระทบบางส่วนจากความเสี่ยงด้านราคาก๊าซ LPG ในธุรกิจการค้าในต่างประเทศลง การเติบโตของปริมาณจำหน่ายก๊าซภายในประเทศคาดว่าจะถูกจำกัดจากเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ชะลอตัวและความต้องการใช้ก๊าซ LPG ในภาคยานยนต์ที่ลดลง ในขณะที่ธุรกิจในต่างประเทศคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากราคาก๊าซ LPG ที่อยู่ในระดับต่ำซึ่งบ่งบอกถึงความเสี่ยงที่ราคาก๊าซ LPG ที่ลดลงไปอีกในช่วง 1 ปีข้างหน้านั้นจำกัด โดยที่ปริมาณจำหน่ายก๊าซในต่างประเทศของบริษัทคาดว่าจะเติบโตประมาณ 3%-5% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่ายอดจำหน่ายในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจะทำให้บริษัทมีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกมากขึ้นซึ่งจะส่งผลให้กระแสเงินสดมีความไม่แน่นอนมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ภายใต้การประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้เติบโตโดยเฉลี่ยปีละ 5%-8% ในระยะปานกลางโดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักจะมาจากการฟื้นตัวของราคาก๊าซ ในขณะที่รายได้จากธุรกิจในตลาดต่างประเทศคาดว่าจะมีสัดส่วนประมาณ 65% ของปริมาณทั้งหมด อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องและอยู่ต่ำกว่า 50% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะยังคงผันผวน แต่โดยเฉลี่ยแล้วควรจะอยู่ในช่วง 1,500-2,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนสภาพคล่องของบริษัทนั้นยังคงมีเพียงพอ อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะมีมากกว่า 5 เท่าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้คาดว่าจะอยู่สูงเกินกว่า 15%