นายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า ปตท.เตรียมจะลงทุนเกือบ 4 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายขีดความสามารถในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยมองความต้องการใช้ LNG ในปี 62 มีโอกาสที่จะเกินระดับ 10 ล้านตัน จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีการนำเข้าราว 3 ล้านตันเท่านั้น ซึ่งเป็นผลจากโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่เพิ่มมากขึ้น และภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ขณะที่ปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยและเมียนมาร์มีแนวโน้มลดลง
"ความต้องการใช้ LNG มีโอกาสเกิน 10 ล้านตันในปี 62 รัฐบาลก็ขอให้ปตท.ช่วยขยายส่วนนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ ปีที่แล้วเรานำเข้าเพียง 2.64 ล้านตัน และปีนี้คาดว่าจะนำเข้า 3 ล้านตัน ปีหน้าน่าจะเกือบ 5 ล้านตันความต้องการจะเร่งตัวมากขึ้นตั้งแต่ปี 62 ซึ่งเติบโตตามสภาพเศรษฐกิจ โรงไฟฟ้าเอสพีพีก็เริ่มทยอยเข้าสู่ระบบ อีกส่วนหนึ่งเรื่องของก๊าซฯในอ่าวไทยที่อาจมีแนวโน้มลดลง รวมถึงก๊าซฯเมียนมาร์ก็ทยอยลดลงด้วย"นายนพดล กล่าว
นายนพดล กล่าวว่า การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อต้นสัปดาห์ที่อนุมัติให้ปตท.ดำเนินโครงการขยายกำลังการแปรสภาพ LNG ของโครงการคลัง LNG (LNG Receiving Terminal) แห่งแรก อีก 1.5 ล้านตัน/ปี ส่งผลให้ LNG Receiving Terminal แห่งแรก จะมีขีดความสามารถในการรองรับ LNG เพิ่มเป็น 11.5 ล้านตัน/ปี โดยปัจจุบันคลัง LNG แห่งแรก ระยะที่ 1 ได้เปิดดำเนินการแล้วมีขีดความสามารถรองรับ LNG ได้ 5 ล้านตัน/ปี และอยู่ระหว่างก่อสร้างระยะที่ 2 ซึ่งจะเพิ่มความสามารถเป็น 10 ล้านตัน/ปีจะแล้วเสร็จในปี 60
แต่จากนโยบายของกบง.ดังกล่าว ปตท.จะใช้เงินอีกราว 1 พันล้านบาท เพื่อขยายขีดความสามารถของหน่วยเปลี่ยน LNG เป็นก๊าซฯนั้น (Regas Unit) ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตได้เพิ่มเป็น 11.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 62 โดยไม่ได้เพิ่มในส่วนของถังบรรจุ LNG
นอกจากนี้กบง.ยังอนุมัติให้ปตท.ดำเนินโครงการคลัง LNG แห่งที่สอง เพื่อรองรับการนำเข้าและผลิต LNG ในระดับ 5-7.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งการกำหนดปริมาณที่ชัดเจนนั้นยังขึ้นอยู่กับความชัดเจนในการบริหารสัมปทานแหล่งก๊าซฯบงกชและเอราวัณที่จะหมดอายุในปี 65-66 โดยการลงทุนคลัง LNG แห่งที่สอง จะตั้งอยู่ในพื้นที่จ.ระยอง ใกล้กับต้นทางของท่อส่งก๊าซฯหลัก แต่จะอยู่คนละจุดกับคลัง LNG แห่งแรก เพื่อเป็นการป้องกันการกระจุกตัวในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งจะเป็นการลงทุนใหม่ทั้งหมดในส่วนของท่าเรือ ถังเก็บ LNG และ Regas unit โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในกลางปีนี้ โดยโครงการจะแล้วเสร็จในปี 65
ทั้งนี้ หากเป็นการลงทุนรองรับ LNG ระดับ 5 ล้านตัน/ปี จะใช้เงินลงทุนราว 3.68 หมื่นล้านบาท และหากเป็นการลงทุนรองรับ LNG ระดับ 7.5 ล้านตัน/ปี จะใช้เงินลงทุนราว 3.88 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวนับเป็นส่วนหนึ่งของเงินลงทุนตามแผน 5 ปี (ปี 59-63) ของธุรกิจก๊าซฯที่ระดับ 2.1 แสนล้านบาท
"Terminal 2 จะเริ่มออกแบบเบื้องต้นและเข้าสู่กระบวนการ EHIA รับฟังความเห็นคงใช้เวลาปีนี้และปีหน้าทั้งปี การก่อสร้างคงจะเริ่มได้ในต้นปี 61 ซึ่งพื้นที่ของ Terminal 2 คาดว่าจะสามารถรองรับการทำคลัง LNG ได้สูงสุดถึงระดับ 15 ล้านตัน/ปี"นายนพดล กล่าว
นายนพดล กล่าวว่า ตลาด LNG ในปัจจุบันนับว่าเป็นตลาดของผู้ซื้อหลังปริมาณ LNG ในตลาดโลกยังมีอยู่มากกว่าการเติบโตของความต้องการใช้ ขณะที่ราคา LNG ในตลาดโลกปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน โดยล่าสุดอยู่ที่ราว 5-6 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู จากเดิมที่เคยอยู่ระดับ 15-20 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ทำให้ในช่วงสั้นปตท.เห็นว่าควรจะมีการนำเข้า LNG จากตลาดจร (spot) ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น และนำเข้า LNG ตามสัญญาไม่มากนัก แต่ใน 3-5 ปี เห็นว่าการนำเข้า LNG ที่เหมาะสมควรมีสัดส่วนการนำเข้าตามสัญญาระยะยาวที่สัดส่วน 60-70% และตลาดจร ระดับ 30%
โดยปัจจุบันปตท.มีสัญญานำเข้าระยะยาวจากกาตาร์ 2 ล้านตัน/ปี และอยู่ระหว่างการทำร่างสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวจาก Shell Eastern Trading (PTE) LTD และ บริษัท BP Singapore PTE. Limited ในปริมาณรายละ 1 ล้านตัน/ปี รวม 2 ล้านตัน/ปี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มนำเข้าได้ในต้นปี 60 นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อขอเข้าลงทุนในแหล่งผลิตและนำเข้า LNG จากปิโตรนาสของมาเลเซีย และนำเข้า LNG จากแหล่งโมซัมบิค ที่บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เข้าไปร่วมลงทุนด้วย
สำหรับการที่กบง.อนุมัติการลงทุนโครงการดังกล่าวเพราะในเบื้องต้นรัฐบาลได้ทบทวนแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(PDP 2015) ปี 58-79 โดยประมาณการความใช้ก๊าซฯในปี 79 เพิ่มขึ้นมาเป็นระดับ 5,653 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จากเดิมที่ 4,344 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ทำให้คาดว่าความต้องการใช้ LNG จะเพิ่มขึ้นจากแผนเดิมที่คาดว่าในปี 79 จะมีการนำเข้า LNG รวม 22 ล้านตัน/ปี เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดความล่าช้า หรือการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนไม่เป็นไปตามแผน
นอกจากนี้ปตท.ยังได้ศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการคลัง LNG ในรูปแบบเรือลอยน้ำ FSRU (Floating Storage Regisification Unit) ในพื้นที่อ.จะนะ จ.สงขลา และโครงการ FSRU ในเมียนมาร์ด้วย ส่วนโครงการ FSRU พื้นที่อ่าวไทยตอนบนนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะเป็นผู้ศึกษาโครงการซึ่งทางภาครัฐคงต้องการให้เกิดการแข่งขันและเปิดทางให้มีผู้นำเข้า LNG มากกว่า 1 ราย