PwC Consulting (ประเทศไทย) หนึ่งในเครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการด้านการตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาด้านภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก เผยแพร่ผลสำรวจ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจประเทศไทย ประจำปี 2559 (PwC’s 2016 Global Economic Crime Survey: Economic crime in Thailand)
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยในปีนี้เป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีผู้ตอบแบบสอบถามสูงสุดเป็นประวัติการถึง 261 ราย จากครั้งก่อนมีเพียง 76 ราย ซึ่งกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามมาจากองค์กรธุรกิจหลายประเภท ทั้งบริษัทจดทะเบียน บริษัทเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ เนื้อหาที่น่าสนใจ ได้แก่ 39% ของบริษัทจดทะเบียนไทย (Listed companies) ยอมรับว่ามีการตรวจพบการทุจริตในปีนี้ ขณะที่มีบริษัทเอกชนที่ไม่ได้จดทะเบียน (Private companies) เพียง 16% ที่มีการตรวจพบการทุจริต
ผลสำรวจพบปัญหาอาชญากรรมเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณดีขึ้น โดยอัตราการทุจริต (Fraud rate) อยู่ที่ 26% ลดลงจากผลสำรวจครั้งก่อนที่ 37% หลังภาครัฐและภาคเอกชนเริ่มตื่นตัวร่วมกันป้องกัน ตรวจสอบ และปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจทุกรูปแบบอย่างจริงจัง อัตราการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Cybercrime) ทั้งโลกและประเทศไทย จัดเป็นภัยร้ายแรงทางเศรษฐกิจอันดับที่สอง โดยเขยิบจากอันดับที่สี่ในการสำรวจคราวก่อน
ทั้งนี้ ทั่วโลกมีอัตราการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ อยู่ที่ 32% ขณะที่ไทยอยู่ที่ 24% อัตราการรับสินบนและคอรัปชั่น (Bribery and corruption) ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ 19% เมื่อเทียบกับผลสำรวจครั้งก่อนที่ 39% แต่ปัญหาดังกล่าว ยังคงเป็นปัญหาใหญ่และเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการพัฒนาประเทศในระยะยาว อีกทั้งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งปัญหาการทุจริตและคอรัปชั่นถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน