นายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. (PTT) คาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของธุรกิจก๊าซธรรมชาติในปีนี้จะใกล้เคียงหรือดีขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน แม้มองปริมาณการใช้ก๊าซฯโดยรวมยังทรงตัว แต่คาดว่าการขายก๊าซฯให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมน่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากที่มีผลขาดทุนราว 3 พันล้านบาทในปีก่อน แม้ว่าราคาขายต่ำกว่าต้นทุนราว 7% เพราะเป็นไปตามสูตรราคาที่อ้างอิงราคาน้ำมันเตาที่ปรับลดลง แต่ต้นทุนราคาก๊าซฯปรับลดลงช้ากว่าราคาขาย
ทั้งนี้ การขายก๊าซฯให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมในปีนี้ยังมีผลขาดทุน แต่จะลดลงจากปีก่อน เนื่องจากราคาต้นทุนเนื้อก๊าซฯปรับลดลงไปไม่มากเท่ากับราคาน้ำมันที่ปรับลดลง แต่ผลกระทบดังกล่าวจะค่อย ๆ ลดลงตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 1/59 เพราะราคาต้นทุนก๊าซฯเริ่มปรับลดลงมาในใกล้เคียงกับราคาน้ำมันที่ปรับลดลงไปก่อนหน้านี้แล้ว
ขณะที่ในปีที่แล้ว ปตท.มี EBITDA จากธุรกิจก๊าซฯ 4.56 หมื่นล้านบาท โดยปริมาณขายก๊าซฯให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมคิดเป็นปริมาณเกือบ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือ 13.5% ของปริมาณขายก๊าซฯทั้งหมด ขณะที่ส่วนใหญ่ราว 60% เป็นการขายให้กับลูกค้ากลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า , 20% สำหรับกลุ่มลูกค้าปิโตรเคมี และราว 6.5% อยู่ในกลุ่มลูกค้าก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV)
"ก๊าซฯอุตสาหกรรมกำหนดให้เป็นเชื้อเพลิงทางเลือก การตั้งราคาขายก็จะแข่งขันกับ LPG ,น้ำมันเตาซึ่งเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกของอุตสาหกรรม ราคาก็จะไปอิงทางด้านนั้น ถ้าเกิดช่วงที่ราคาน้ำมันเตา หรือ LPG ปรับตัวลงเร็ว ต้นทุนก๊าซฯซึ่งเป็นราคา pool เป็นราคาก๊าซฯเฉลี่ยหลายเดือน โดยเฉลี่ยประมาณ 6 เดือนก็จะลงไม่ทัน ส่งผลให้ผลประกอบการย่ำแย่ ก๊าซฯที่ขายอุตสาหกรรมประมาณกว่า 13% ก็ไม่น้อย เราแบกรับสภาวะแบบนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้วทำให้ขาดทุน ปีนี้ก็เหมือนจะรับไม่ไหว เลยไปหารือ กกพ.ว่าจะมีอะไรบรรเทาได้บ้าง ขอให้ช่วยเยียวยา และบรรเทาพอให้ธุรกิจไปได้ในช่วงสั้นๆ...ไตรมาส 4 เรามองว่าธุรกิจน่าจะพอไปได้ ทั้งปีตัวเลขขาดทุนคงไม่ถึง 2 พันล้านบาท เพราะราคาน้ำมันทรงๆไม่ได้ไหลตลอดเหมือนปีก่อน และเราก็พยายามตัดลดค่าใช้จ่าย การขยายโครงข่ายต่างๆก็ชะลอไว้ก่อน"นายนพดล กล่าว
นายนพดล กล่าวว่า เดิม ปตท.ได้เจรจากับลูกค้าอุตสาหกรรมที่มีอยู่ราว 400 ราย เพื่อขอปรับสูตรราคาใหม่เพื่อให้สะท้อนข้อเท็จจริงมากขึ้น โดยเฉพาะต้องสะท้อนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่จะมีมากขึ้น ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็มีความเข้าใจและพร้อมที่จะแก้ไขสัญญาและจะเริ่มใช้สูตรใหม่ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากการปรับสูตรราคาก๊าซฯนั้นยังต้องขึ้นกับความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลด้วย โดย กกพ.ต้องการขอความเห็นจากทุกฝ่ายทำให้การปรับสูตรราคาใหม่มีความล่าช้าจนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบในช่วงสั้นๆ ทาง ปตท.ต้องการให้ กกพ.ออกสูตรชั่วคราวเพื่อบังคับใช้ก่อนในช่วงสั้นจนถึงไตรมาส 3/59 ซึ่งเดิมคาดว่าจะใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมานั้นก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกัน
"เราเข้าใจว่าธุรกิจนี้ไม่ใช่ firm และเป็นอะไรที่คุยกับลูกค้าทางธุรกิจ ตกลงได้ก็ตกลงกันไป เราจะเริ่มสูตรใหม่ตั้งแต่ต้นปี แต่พอ กกพ.ทราบก็บอกว่าไม่ได้ เขาต้องดูเรื่องราคาด้วย ก็ระงับสูตรใหม่ บอกว่าในระหว่างที่ กกพ.พิจารณาสูตร ก็ขอให้บรรเทาได้ไหมเพราะช่วงนี้อยู่ไม่ไหว จึงเป็นที่มาของสูตรชั่วคราว เพราะสูตร กกพ. ไม่รู้ว่าจะออกเมื่อไหร่ ตอนนี้เรากลัวเลือดหมดตัวก่อน ลูกค้าก็จะแย่ไปด้วย สูตรชั่วคราวเราก็ขอแค่ไตรมาส 3 ก็พอแล้ว"นายนพดล กล่าว
นายนพดล กล่าวว่า ความต้องการใช้ก๊าซฯในปีนี้คาดว่าจะเติบโตเล็กน้อยจากระดับ 4,828 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันในปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าทรงตัว ,การใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นไม่มาก และการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ลดลง ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตแต่ไม่มากนัก ส่วนในปีหน้าคาดว่าจะเติบโตได้ราว 2-3% ตามภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งยังจะมีโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ใหม่ทยอยเข้าระบบ
ขณะที่ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวปี 58-79 (PDP2015) คาดว่าความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติจะเติบโตในอีก 2-3 ปีจากนี้หลังจากนั้นจะค่อนข้างทรงตัว หลังจากรัฐบาลมีนโยบายลดการพึ่งพาก๊าซฯจาก 58% เหลือ 37% ในช่วงปลายแผน แต่เบื้องต้นคาดว่าความต้องการใช้ก๊าซฯอาจจะมากกว่าแผนระยะยาว เพราะโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงอื่น ๆ เกิดขึ้นไม่ได้ตามแผน
สำหรับการจัดหาก๊าซฯส่วนใหญ่ราว 70% ยังมาจากแหล่งในประเทศ โดยเฉพาะในอ่าวไทย ส่วนที่เหลือมาจากเมียนมาร์และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยมีแนวโน้มที่จะลดลงตามสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมที่จะทยอยหมดอายุลง โดยเฉพาะแหล่งบงกชและเอราวัณ ที่จะหมดอายุในปี 65-66 หากรัฐบาลยังไม่มีแผนการบริหารจัดการสัมปทานที่ใกล้หมดอายุดังกล่าวก็อาจจะเห็นปริมาณก๊าซฯจากอ่าวไทยลดลงได้อย่างชัดเจนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
ส่วนในปีหน้าปริมาณก๊าซฯจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) ในแปลง B17 จะลดลงบ้างแต่ไม่มากนัก หลังจากที่มาเลเซียจะเรียกก๊าซฯที่ปัจจุบันไทยรับซื้อเกินจากสัญญาซื้อขายกลับไป
นายนพดล กล่าวว่า ขณะนี้ ปตท.ยังได้เจรจากับ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เพื่อขอรับก๊าซฯส่วนเพิ่มจากสัญญาซื้อขายสำหรับแหล่งบงกชเหนือในปริมาณที่ไม่มากนัก เพื่อเป็นการรักษาการผลิตจากแหล่งดังกล่าวให้อยู่ในภาวะทรงตัว โดยคาดว่าปริมาณก๊าซฯส่วนเพิ่มจะสามารถจัดส่งได้ในช่วง 2 ปีข้างหน้า