ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และ บล.บัวหลวง (BLS) เปิดตัว บลจ.บางกอกอแคปปิตอล (BCAP) เพื่อเสริมศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจจัดการกองทุนภายใต้กลุ่มของ BBL เตรียมออกกองทุนใหม่อย่างน้อย 2-3 กองภายในปีนี้ ประเดิมกองหุ้นในประเทศ ตั้งเป้าดันมูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) เติบโต 2 เท่าภายในปี 61
นางเมธ์วดี ประเสิรฐสินธนา กรรมการผู้จัดการ BCAP เปิดเผยว่า กลยุทธ์ในการบริหารจัดการ BCAP จะให้ความสำคัญในสองด้าน คือ การนำมาตรฐานการบริหารงานธุรกิจจัดการกองทุนที่เป็นสากลมาประยุกต์ใช้ โดยมุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการตัดสินใจและการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน ของ BCAP ให้เป็นรูปธรรมและมีความขัดเจนคงที่ นักลงทุนทั้งสถาบันและบุคคลสามารถเข้าใจในหลักการตัดสินใจการลงทุนของ BCAP และมีความเชื่อมั่นในการลงทุนที่ไว้วางใจได้อย่างเต็มที่ ส่วนด้านที่สอง คือ การลงทุนอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาระบบงานที่เป็น Best Practice ระบบสารสนเทศในการบริหารการลงทุน ที่ได้มาตรฐานชั้นนำระดับโลก และทีมบุคลากรในการปฎิบัติงานที่มีคุณภาพสูงสุด
นอกจากนี้ด้านผลิตภัณฑ์ BCAP มุ่งมั่นที่จะพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่โดดเด่น และแตกต่างจากบลจ.อื่นๆในอุตสาหกรรม โดยมุ่มเน้นการตอบโจทย์ต่างๆ ของนักลงทุนให้ดีขึ้นภายใต้ BCAP Better Investment Approach: be informed , be innovative, be global
สำหรับเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ BCAP บริหารจะยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันจะนำรายได้จากการดำเนินธุรกิจมาลงทุนเพิ่มในการพัฒนาความพร้อมในการบริหารผลิตภัณฑ์ที่จะพัฒนาขึ้นในอนาคต โดยแผนใน 3 ปีข้างหน้าจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ครอบคลุมทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนรวม
นางเมธ์วดี คาดว่าจะเริ่มเห็นกองทุนใหม่ของ BCAP อย่างน้อย 2-3 กองทุนภายในปีนี้ โดยในเดือนพ.ค.นี้ ก็เปิดตัวกองทุนรวม BCAP MSCI Thailand ETF เสนอขายผ่านสาขาของธนาคารกรุงเทพ และ บล.บัวหลวง ซึ่งจะเป็นกองทุนรวมกองแรกสำหรับนักลงทุนทั่วไปที่มีความต้องการออมเงินระยะยาวในหุ้นในประเทศแต่ไม่มีเวลาและประสบการณ์ หรือไม่ต้องการความกังวล โดยกองทุนดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการออมเงินระยะยาว เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนต่ำ และมีผลตอบแทนราว 5-10%
นายธนาวุฒิ พรโรจนางกูร หัวหน้าสายงานจัดการกองทุน BCAP กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้า AUM จะเติบโตเป็น 2 เท่า ภายในปี 61 จากปัจจุบันอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กองทุนส่วนบุคคลราว 9,000 ล้านบาท และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 9,200 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนลูกค้าสถาบัน 85% และลูกค้าส่วนบุคคล 15%
ทั้งนี้ จะเป็นการเติบโตผ่านผลิตภัณฑ์กองทุนรวมรูปแบบต่างๆ ที่ใช้กลยุทธ์เชิงรับ หรือ กลยุทธ์การจัดสรรการลงทุน สำหรับนักลงทุนรายย่อย เช่น Domestic and Global Exchange-Traded Fund (ETF) ,Global Target Retirement Date Fund ,Global Asset Allocation Fund ,Global Structured Bond Fund เป็นต้น รวมถึงผลิตภัณฑ์กองทุนส่วนบุคคลที่ออกแบบเฉพาะตัว ที่ตอบโจทย์นักลงทุน โดยการใช้กลยุทธ์จัดสรรเงินลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยง ทั้งประเภทสินทรัพย์ ภูมิภาคในการลงทุน และประเภทกลยุทธ์
ด้านค่าใช้จ่ายรวมของการลงทุน คิดอยู่ที่ 0.65% ในขณะที่อุตสาหกรรมเฉลี่ยที่ 1.8% ซึ่งถูกกว่ากองทุนอื่นๆอยู่ 1.2%
นายธนาวุฒิ ประเมินว่า ทิศทางการลงทุนในช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยน่าจะมีอัพไซต์จำกัดแล้ว โดยให้ติดตามในเรื่องของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ หากมีแนวโน้มที่ดีก็อาจจะส่งผลบวกต่อดัชนีหุ้นไทยให้ปรับตัวขึ้นได้อีก แต่คงไม่มากนัก ดังนั้น แนะนำการลงทุนให้มองในระยะยาว และกระจายความเสี่ยงไปยังต่างประเทศ
ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบนี้ในวันที่ 11 พ.ค. คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว จากที่ผ่านมา กนง.ก็มีการปรับอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 2 ครั้งก็ไม่ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นมากนัก