คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) สรุปผลรายงานการตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.50 ในยุครัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการส่งคืนส่งคืนท่อก๊าซ ของ บมจ.ปตท. (PTT) พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการฝ่าฝืนมติ ครม.และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยการส่งคืนท่อก๊าซไม่ครบถ้วนทั้งบนบกและทางทะเล มูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาทตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
ทั้งนี้ คตง.มีมติให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิดทางอาญากับอดีต รมว.คลัง และ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวม 6 คน
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า บุคคลที่จะต้องรับผิดชอบกับกรณีนี้ทั้ง 6 คน ได้แก่ นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.คลัง, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT, นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งปฏิบัติราชการแทนอธิบดีธนารักษ์ในขณะนั้น, นายสุพจน์ เหล่าสุอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักกฎหมาย ของ PTT ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานกฎหมาย ปตท.ในขณะนั้น รวมทั้งข้าราชการในสังกัดกระทรวงการคลังในขณะนั้น
"คตง.มีมติชี้ ปตท.แบ่งแยกทรัพย์สินฯ ไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมติ ครม.เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายไม่น้อยกว่า 32,613.45 ล้านบาท และเนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมิได้ถูกโอนให้แก่รัฐตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ทำให้รัฐขาดรายได้จากค่าใช้ทรัพย์สินซึ่งถือเป็นความเสียหายอีกส่วนหนึ่ง"คตง.แถลงบ่ายวันนี้
นายพิศิษฐ์ เปิดเผยว่า คตง.เห็นพ้องกับผลการตรวจสอบของ สตง.ว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ให้นายกรัฐมนตรี, รมว.พลังงาน และ ปตท. ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ ปตท.นี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550
แต่จากการตรวจสอบของ สตง.พบว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้มีส่วนร่วมในการกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินฯ ตามคำพิพากษา โดยการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มิได้ถูกนำเสนอให้ ครม.พิจารณาก่อนการลงนามบันทึกการแบ่งแยกฯ ตลอดจนมิได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวให้ ครม.พิจารณาก่อนการยื่นคำร้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.51 และ ไม่ปรากฏว่านายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เข้ามีส่วนร่วมในการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ
นอกจากนั้น การแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมติ ครม. เพราะจากการตรวจสอบของ สตง.พบว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ของการปิโตรเลียมฯ มิใช่เป็นกรณีที่กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการตามที่มติ ครม.กำหนด และมิได้ให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง
สำหรับกรณีท่อก๊าซในทะเลซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเห็นไม่ตรงกันนั้น โดย สตง. ได้มีหนังสือแจ้งข้อทักท้วงให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานทราบ ซึ่งเป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด แต่ ปตท.กลับยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดโดยไม่มีการนำเรื่องท่อก๊าซในทะเลให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาให้มีข้อยุติ
รวมทั้งการจัดทำบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีการเสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ แต่กลับมีกระบวนการเสนอให้ใช้อำนาจของ รมว.คลังในขณะนั้นเห็นชอบร่างบันทึกฯ ทั้งที่มิใช่บุคคลตามบังคับของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และครม.มิได้มอบหมายหน้าที่ให้แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและเป็นไปโดยมิชอบ นอกจากนี้ กระบวนการจัดทำร่างบันทึกฯ ก็มิได้ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา อันทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
ขณะที่การเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษา โดยแจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญ และปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่จะต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด โดยมิได้รอผลรายงานการตรวจสอบของ สตง. เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ร่วมกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สิน และในประเด็นเรื่องท่อก๊าซในทะเลยังมีข้อโต้แย้งที่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ แต่ในคำร้องดังกล่าวมิได้ระบุถึงเรื่องท่อก๊าซในทะเลให้ศาลปกครองสูงสุดได้รับทราบข้อเท็จจริง และไม่ได้รายงานว่าประเด็นเรื่องท่อก๊าซในทะเลนั้น มิได้นำเสนอให้ ครม.พิจารณา
การยื่นคำร้องโดยการกล่าวอ้างข้อความดังกล่าว เป็นผลให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งลงวันที่ 26 ธ.ค.51 ว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว" ดังนั้น การยื่นคำร้องดังกล่าวจึงเป็นการแจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญ และปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่จะต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด ถือเป็นการกระทำโดยมิชอบ
“การที่ ปตท.ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.51 โดยไม่ปรากฏการแบ่งแยกทรัพย์สิน มูลค่า 32,613.45 ล้านบาทให้แก่รัฐ รวมทั้งไม่ได้รายงานทรัพย์สินที่จะแบ่งแยกให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อน ทำให้มีทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินคงเหลือที่ยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายขั้นต้นไม่น้อยกว่า 32,613.45 ล้านบาท และเนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมิได้ถูกโอนให้แก่รัฐตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.54 ทำให้รัฐขาดรายได้จากค่าใช้ทรัพย์สินซึ่งถือเป็นความเสียหายอีกส่วนหนึ่ง"ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว
ทั้งนี้ คตง.มีมติให้ สตง.แจ้ง ครม.ให้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดว่าการบังคับคดีที่ผ่านมายังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามคำบังคับของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้ ครม.ดำเนินการเพื่อให้มีการส่งมอบทรัพย์สินให้ครบถ้วนถูกต้องต่อไป พร้อมทั้งแจ้งนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
รวมทั้ง ให้แจ้ง รมว.คลังเพื่อดำเนินการทางอาญาและทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง แจ้ง รมว.พลังงานเพื่อดำเนินการทางอาญาและทางวินัยตามกฎหมายหรือตามระเบียบแบบแผนที่ทางราชการกำหนดแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง แจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินคดีแก่เจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง แจ้งผลการตรวจสอบให้ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ ก.พ. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
และแจ้งผลการตรวจสอบให้เลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แก่บุคคลที่กระทำความผิดต่อไป