สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) ฉบับแรกเมื่อวันที่ 10 พ.ค.59 เนื่องจากบริษัทฯมีความประสงค์จะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 2,500 ล้านบาท โดยเสนอขายผู้ถือหุ้นของ บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) จำนวน 125 ล้านหุ้น และขายให้ประชาชนทั่วไป จำนวน 2,375 ล้านหุ้น โดยมี บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย), ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และธนาคาร ทิสโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ทั้งนี้ บริษัทจะนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยการระดมทุนครั้งนี้เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ชำระหนี้คงค้างของบริษัท และใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการต่าง ๆ รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัท และเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไปอื่น ๆ ระยะเวลาในการใช้เงินในปี 59-60
บริษัทประกอบธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค มุ่งเน้นผลิตไฟฟ้าจากขยะและพลังงานความร้อนทิ้ง เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ TPIPL นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ดำเนินการสถานประกอบการผลิตเชื้อเพลิง RDF ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งในการรับขยะชุมชนเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นจำนวนถึง 4,000 ตันต่อวัน ซึ่งสามารถผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF ได้ถึง 2,000 ตันต่อวัน เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าตามกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF
นอกจากนั้น บริษัทยังประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) ณ วันที่ 31 มี.ค.59 มีสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 8 แห่ง สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและ NGV 3 แห่ง และสถานีบริการ NGV 1 แห่ง ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ทีพีไอพีแอล (TPIPL)” โดยสถานีบริการตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทย
และ ณ วันที่ 31 มี.ค.59 โรงไฟฟ้าของบริษัทที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 4 โรง มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 150 เมกะวัตต์ ขณะที่บริษัทอยู่ในระหว่างการขยายธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค โดยกำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าจำนวน 3 โรง มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 290 เมกะวัตต์
โครงการในอนาคตของบริษัท ได้แก่
1.โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF ขนาด 70 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการก่อสร้างตั้งอยู่ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และอยู่ในบริเวณเดียวกับโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ของ TPIPL เพื่อนำกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าแห่งนี้และโรงไฟฟ้า WH ขนาด 30 เมกะวัตต์มารวมกันเพื่อใช้ดำเนินการเป็นโรงไฟฟ้า RDF ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 100 เมกะวัตต์ โดยบริษัทคาดว่าจะใช้มูลค่าเงินลงทุนโครงการดังกล่าวประมาณ 3,300 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 1/60
2.โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาด 150 เมกะวัตต์อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งจะตั้งอยู่ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ในบริเวณเดียวกับโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ของ TPIPL คาดว่าจะใช้มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 7,300 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 4/60
3.โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินและพลังงานเชื้อเพลิง RDF คาดว่าจะมีกำลังการผลิตติดตั้ง 70 เมกะวัตต์ตั้งอยู่ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ในบริเวณเดียวกับโรงปูนซีเมนต์ของ TPIPL คาดว่าจะใช้มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 900 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 2/60
4.โครงการปรับปรุงโรงไฟฟ้า WH ขนาด 40 เมกะวัตต์ โดยเริ่มดำเนินการติดตั้งหม้อผลิตไอน้ำที่สามารถใช้เชื้อเพลิง RDF ที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้เพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าโดยใช้ได้ทั้งเชื้อเพลิง RDF และพลังงานความร้อนทิ้ง คาดว่าจะใช้มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 730 ล้านบาท กำหนดดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 3/59
5. โครงการขยายกำลังการผลิตของสถานประกอบการผลิตเชื้อเพลิง RDF เพื่อรองรับการขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า คาดว่าจะมีกำลังการผลิตติดตั้งในการรับขยะชุมชนเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นจำนวนถึง 6,000 ตันต่อวัน สามารถผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF ได้เป็นจำนวนถึง 3,000 ตันต่อวัน คาดว่าจะใช้มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1,450 ล้านบาท การขยายกำลังการผลิตจะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินงานได้ในไตรมาส 4/59
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 58 บริษัทมีรายได้จากการขาย 2,629.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,984 ล้านบาทในปี 57 ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 493.4 ล้านบาท จาก 379 ล้านบาทในปี 57 และ ณ วันที่ 31 ธ.ค.58 มีสินทรัพย์รวม 12,673.6 ล้านบาท หนี้สินรวม 3,628.4 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 9,045.2 ล้านบาท
ในเดือน พ.ค.59 บริษัทมีทุนจดทะเบียน 8,400 ล้านบาท และทุนชำระแล้ว 5,900 ล้านบาท ภายหลังจากเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ แล้วบริษัทจะมีทุนชำระแล้วทั้งสิ้นไม่เกิน 8,400 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญไม่เกิน 8,400 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ณ วันที่ 3 พ.ค.59 คือ TPIPL ถือหุ้น 5,899,999,300 หุ้น คิดเป็น 99.9%
บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลประจำปีให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิจากงบเฉพาะกิจการภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทฯ