คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) มีมติเห็นชอบในหลักการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค และ ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ที่กำหนดให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่อง (Through Operation) สำหรับการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง แบบ PPP net cost
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ที่ประชุมให้ตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ขึ้นมากำหนดร่างทีโออาร์ รวมถึงคัดเลือกบริษัทเอกชนที่จะมาเดินรถ ซึ่งสามารถเจรจากับเอกชนรายเดิมที่เดินรถ MRT อยู่แล้ว หรือเปิดเจรจากับรายใหม่ หลังจากพิจารณาแล้วเสร็จให้กลับมานำเสนอคณะกรรมการ PPP อีกครั้ง
"รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายหากเกิดขึ้นได้จะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจจะทำให้ผู้ลงทุนเกิดความมั่นใจ"นายเอกนิติ กล่าว
ทั้งนี้ เอกชนจะเป็นผู้รับผลประโยชน์และความเสี่ยงจากค่าโดยสารในการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการ เป็นระยะเวลา 30 ปี และภาครัฐไม่มีภาระทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการสนับสนุนภาระทางการเงินและการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งนี้ให้เอกชนดำเนินการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าช่วงเตาปูน-บางซื่อให้แล้วเสร็จภายใน 15 เดือน และสามารถเริ่มเดินรถเป็นลำดับแรกก่อน ซึ่งวงเงินลงทุนรวมของโครงการทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 84,000 ล้านบาท
พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รฟม.จะตั้งคณะกรรมการ คัดเลือกเอกชนเข้าร่วมดำเนินการในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการตามมาตรา 35)ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56) ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะพิจารณาวิธีการคัดเลือกเอกชน โดยจะต้องนำประเด็นการเดินรถต่อเนื่องด้วย ซึ่งหากเลือกวิธีการเปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่ รฟม.จะดำเนินการตามวิธีมาตรฐานการประมูล โดยต้องกำหนดร่างเงื่อนไขการเชิญชวนเอกชน (TOR) ให้การเดินรถต่อเนื่อง ตามมติคณะกรรมการ PPP แต่หากเลือกวิธีการเจรจากับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานเดินรถสายเฉลิมรัชมงคลอยู่แล้ว จะต้องเสนอคณะกรรมการ PPP เห็นชอบก่อนจึงจะเริ่มการเจรจาได้ และหากไม่เห็นด้วย ถือว่าจะต้องกลับไปใช้วิธีการประมูลอย่างเดียว
พล.อ.ยอดยุทธ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นรายเดิมหรือรายใหม่ มีความจำเป็นจะต้องเร่งรัดการเปิดเดินรถช่วง 1 สถานี จากเตาปูน-บางซื่อ ให้เร็วที่สุดเพื่อแก้ปัญหารอยต่อระหว่างสายสีม่วงกับสายสีน้ำเงิน ซึ่งสายสีม่วงจะเปิดให้บริการในเดือน ส.ค.59 แล้ว โดยหากเป็นการเจรจากับ BEM รายเดิมจะสามารถเร่งรัดให้ติดตั้งระบบช่วง 1 สถานีให้เสร็จภายใน 10 เดือนและสามารถเดินรถสถานีบางซื่อไปยังสถานีเตาปูนได้เร็วสุดเดือนธ.ค.59 หรืออย่างช้าไม่เกินเดือนมี.ค.60 แต่หากเป็นเอกชนรายอื่นจะต้องใช้เวลาในการจัดหารถไฟฟ้าล่วงหน้าประมาณ 36 เดือน และหากสั่งรถจำนวนน้อย ไม่กี่ขบวน จะมีผู้ผลิตรถจะยอมผลิตให้หรือไม่