นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก บมจ.อัครา รีซอร์สเซส เรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินการหาข้อเท็จจริงของสาเหตุความขัดแย้งด้านผลกระทบที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านในเหมืองแร่ทองคำตามหลักของวิทยาศาสตร์และธรณีวิทยา เพื่อให้เกิดความกระจ่างและสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะชาวบ้านตัวจริงที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมือง
"บริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือในทุกด้านอย่างเต็มที่ เพื่อให้ความจริงปรากฎชัด ซึ่งจะนำไปสู่มาตรฐานที่เป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยต่อไป" นายเชิดศักดิ์ กล่าวหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ และประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออนุญาตประทานบัตรทั่วประเทศ
นายเชิดศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปริมาณแร่โลหะทองคำในพื้นที่ 3,700 ไร่ของเหมืองชาตรี มีทั้งหมด 80 ตัน ขุดขึ้นมาแล้ว 50 ตัน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 30 ตัน คาดว่าไม่สามารถนำขึ้นมาได้ทั้งหมดทันภายในสิ้นปีนี้ที่ ครม.ให้ยุติการทำเหมือง เพราะจะต้องใช้เวลาประมาณ 7-8 ปี แต่ละปีรายได้อยู่ที่ประมาณ 5,600 ล้านบาท ซึ่งหากหยุดในสิ้นปีนี้จะทำให้บริษัทสูญเสียรายได้ไปประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
ด้านนายสิโรจ ประเสริฐผล ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ตลอด 15 ปีบริษัทมีการลงทุนไปแล้ว 14,000 ล้านบาท ทุกๆปีจะมีการสร้างที่เก็บกากแร่เพิ่ม และปีนี้จะขยายโรงงานถลุงทองคำ
ทั้งนี้ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาบริษัทต่ออายุประทานบัตรไปแล้ว 2 ครั้งๆ ละ 5 ปี แต่มาครั้งนี้ถูกสั่งปิดเหมืองเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิด และไม่สามารถปรับแผนรองรับได้ภายใน 7 เดือนที่เหลืออยู่ อีกทั้งบริษัทยังอยู่ระหว่างรอหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ จึงยังไม่ทราบจะโต้แย้งหรือชี้แจงอย่างไร และจะมองทุกช่องทางเพื่อทำสิ่งถูกต้องต่อไป โดยเฉพาะการเจรจาเพื่อหาข้อสรุป
"ทำไมต้อง 7 เดือน ประเมินจากอะไร เหมือนโดนลงโทษโดยที่ยังไม่ได้ทำความผิด เราทำถูกต้องตามกฎหมายและมั่นใจว่าไม่ใช่สาเหตุของสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำและความเจ็บป่วยของคนในพื้นที่"นายสิโรจน์ กล่าว
ส่วนเรื่องการฟ้องร้องด้วยกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศหรือไม่นั้น จะต้องปรึกษากับทีมทนายความก่อนว่ามีช่องทางไหนได้บ้าง แต่บริษัทจะเริ่มจากจุดที่ว่าทำทุกอย่างถูกต้อง ฉะนั้น คำสั่งที่ออกมาจึงไม่เป็นธรรมและไม่มีเหตุผล เพราะยังไม่ได้ทำอะไรผิด ขณะที่การลงทุนมีการวางแผนระยะยาว จึงเกิดความเสียหาบเมื่อต้องหยุดกระทันหัน จึงจะต้องรอศึกษารายละเอียดในหนังสือข้อสั่งการอย่างเป็นทางการก่อน เพื่ออุธรณ์หรือดำเนินการไปตามกฎหมายทั้งในและต่างประเทศต่อไป
ผู้บริหาร อัคราฯ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ไม่สามารถตอบแทนคิงส์เกท คอนโซลิเดดเต็ด จากประเทศออสเตรเลียที่เป็นผู้ถือหุ้นหลัก 48% ว่ามีแผนอะไรจากนี้ ส่วนแผนลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านนั้นยังไม่ชัดเจน เพราะบริษัทตั้งใจตั้งแต่แรกว่าประเทศไทยมีศักยภาพ มีแรงงานที่ดี ระบบสาธารณูปโภคดีมาก จึงอยากให้ไทยเป็นศูนย์กลางของธุรกิจทองคำที่มั่นคงก่อนแล้วค่อยขยายไปยังประเทศอื่น
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารระดับสูงของคิงส์เกทจะเดินทางมาประเทศไทยในสัปดาห์หน้าและคาดเข้าพบนางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เพื่อขอความชัดเจนคำสั่งหยุดทำเหมือง และขณะนี้คิงส์เกทได้ขอขึ้น H ตัวเองที่ตลาดหุ้นออสเตรเลียแล้ว
สำหรับผลการดำเนินของอัคราฯ ปี 58 ขาดทุน 2 พันล้านบาท ฐานะการเงินปัจจุบันมีหนี้คงค้างธนาคาร 2.2 พันล้านบาทต้องชำระคืนภายใน 3 ปีนี้ ขณะที่อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.4 เท่า