(เพิ่มเติม) RATCH คาดสรุปการทบทวนแผนกลยุทธ์ใน Q3/59 หลังปัจจัยแวดล้อมเปลี่ยนไปมาก

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 13, 2016 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) เผยอยู่ระหว่างทบทวนแผนกลยุทธ์หลังปฏิบัติใช้มาแล้ว 3 ปี เนื่องจากสภาวะธุรกิจและการแข่งขันเปลี่ยนแปลงไปมาก จึงต้องปรับให้สอดคล้องกับสภาพปัจจัยภายในและภายนอก เพื่อให้ทิศทางการลงทุนเหมาะสมเอื้อต่อการเติบโตในอนาคต และแผนดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3/59

ทั้งนี้ บริษัทมองโอกาสการลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะโครงการสาธารณูปโภค (infrastructure) เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ลงทุนเฉพาะการผลิตไฟฟ้าที่ยังมองการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เป้าหมายการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนที่ระดับ 9,700 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 66 อาจเปลี่ยนแปลงไป โดยคาดว่าแผนดังกล่าวจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3/59

"เรามองไปในอนาคตการพัฒนาไฟฟ้าในประเทศค่อนข้างจะตันเมื่อเทียบกับ growth ในต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็มองหาโอกาสข้างเคียงไม่ว่าจะต้นน้ำ ปลายน้ำ ข้างเคียง ก็น่าจะเป็นสิ่งที่บริษัทควรจะทำ บริษัทกำลัง scan ดูอยู่ในลักษณะธุรกิจที่ใช้ความเชี่ยวชาญของบริษัท อย่างน้อยก็เกี่ยวกับองค์ความรู้ที่บริษัทมีทั้งทางเทคนิค หรือโครงการที่ใหญ่ที่ใช้การแข่งขันต้นทุนทางด้านการเงิน เชิงโครงการสาธารณูปโภคที่มีรายได้สม่ำเสมอระยะยาว พวก infrastructure ที่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ"นายรัมย์ กล่าว

นายรัมย์ กล่าวว่า แผนกลยุทธ์ใหม่ดังกล่าวอาจจะทำให้สัดส่วนกำไรของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันที่กำไรทั้งหมดมาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า โดยโครงสร้างธุรกิจตามแผนกลยุทธ์ใหม่จะประกอบด้วย ธุรกิจผลิตไฟฟ้า, ธุรกิจพลังงานทดแทน ,ธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวข้อง และธุรกิจใหม่ โดยธุรกิจต้นน้ำ ก็ยังให้ความสนใจในการลงทุนโครงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ด้วย รวมถึงจะทบทวนเป้าหมายการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนที่เดิมตั้งเป้าไว้ที่ระดับ 9,700 เมกะวัตต์ ในปี 66 ด้วย แต่เป้าหมายในการลงทุนยังคงให้ความสำคัญแก่การลงทุนในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ,อาเซียน , ออสเตรเลีย และตลาดใหม่

แผนกลยุทธ์มีเป้าหมายจะแบ่งเป็น ระยะสั้น 1-2 ปี จะบริหารสินทรัพย์และเน้นลงทุนแบบซื้อกิจการ , ระยะกลาง 3-5 ปี เน้นสร้างพันธมิตรขยายตลาดต่างประเทศ และระยะยาว 6-10 ปี ขยายฐานธุรกิจสู่พลังงานอื่นและธุรกิจใหม่

ขณะเดียวกันก็จะบริหารจัดการประสิทธิภาพความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าที่เป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทให้มีประสิทธิภาพ คือ โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ (TECO) และโรงไฟฟ้าราชบุรี โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ขนาด 700 เมกะวัตต์นั้นกำลังจะหมดอายุในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งบริษัทเตรียมเจรจากับหน่วยงานกำกับเพื่อขอพิจารณาต่ออายุโครงการออกไปอีก โดยจะทำการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าอีกเล็กน้อยเพื่อรองรับการต่ออายุโรงไฟฟ้าดังกล่าว

บริษัทจะใช้งบลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท/ปี เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม และการพัฒนาโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือให้แล้วเสร็จตามแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนในระดับ 6,810 เมกะวัตต์ ในปี 2562 จากปีนี้ที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 6,416 เมกะวัตต์ ขณะที่ยังมีกระแสเงินสดในมืออีกราว 8 พันล้านบาท และมีศักยภาพในการกู้ยืมเงิน ซึ่งเพียงพอที่จะใช้ในการลงทุนใหม่ในอนาคตด้วย

สำหรับในปีนี้คาดว่ากำไรปกติ ที่ไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX) เพิ่มขึ้นจากระดับกว่า 5 พันล้านบาทในปีที่แล้ว เนื่องจากจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าใหม่ที่เข้าระบบในปีนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 300 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าหงสา เฟส 3 ในลาว จำนวน 250.4 เมกะวัตต์ จากการถือหุ้น 40% ที่เปิดเดินเครื่องผลิตเมื่อเดือนมี.ค.59 และโรงไฟฟ้านวนคร จำนวน 52.8 เมกะวัตต์ จากการถือหุ้น 40% นั้นจะเปิดเดินเครื่องผลิตในเดือนมิ.ย.59

นายรัมย์ กล่าวว่า สำหรับโอกาสการลงทุนใหม่ของธุรกิจผลิตไฟฟ้าสำหรับในประเทศนั้น บริษัทมีแผนจะเข้าร่วมประมูลเสนอขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลสำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รัฐบาลจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอในเดือน มิ.ย.นี้ โดยบริษัทจะยื่นเสนอ 3 โครงการ รวมประมาณ 30 เมกะวัตต์ และการเข้าร่วมเสนอขายไฟฟ้าตามโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับหน่วยงานราชการ ที่จะเปิดรับซื้อในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า โดยจะเสนอ 7 โครงการ รวมประมาณ 35 เมกะวัตต์

ขณะที่ยังศึกษาโอกาสในการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าของโครงการนวนคร เฟส 2 อีก 60 เมกะวัตต์ จากเฟสแรกจำนวน 132 เมกะวัตต์ เพื่อเสนอขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม โดยคาดว่าจะสรุปแผนในอีก 2-3 เดือน

ส่วนโอกาสลงทุนใหม่ของธุรกิจผลิตไฟฟ้าในต่างประเทศนั้น มองโอกาสการลงทุนอินโดนีเซีย โดยในเดือนมิ.ย.นี้จะเข้าประมูลสร้างโรงไฟฟ้าในโครงการ Riau ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงขนาด 250 เมกะวัตต์ โดยบริษัทจะร่วมทุน 49% กับพันธมิตรท้องถิ่นคือ MEDCO ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างพิจารณาที่จะเข้าซื้อหุ้นราว 33% ในโรงไฟฟ้าถ่านหินโครงการ SUMSEL 5 ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมราว 900 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้ปัจจุบันเดินเครื่องผลิตแล้ว 300 เมกะวัตต์ โดยจะตัดสินใจว่าเข้าร่วมประมูลหรือไม่ภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้

รวมถึงศึกษาโอกาสการเข้าซื้อกิจการด้วยการประมูลซื้อหุ้นราว 60% ในโรงไฟฟ้าถ่านหินของ GN POWER ในฟิลิปปินส์ด้วย โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวขนาด 2,000 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าแล้ว 600 เมกะวัตต์ ซึ่งกำลังพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการลงทุนโดยยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมประมูลซื้อหรือไม่ อีกทั้งยังมองโอกาสการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวอีก 3-4 โครงการ ,โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ในเกาหลีใต้ ซึ่งเบื้องต้นมองกำลังการผลิตมากกว่า 40 เมกะวัตต์ขึ้นไป จากพลังงานลมและแสงแดด ตลอดจนมองโอกาสการลงทุนในโครงการพลังงานลม และแสงอาทิตย์ ในออสเตรเลียเพิ่มเติมด้วย

ส่วนการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าในเมียนมานั้น คงต้องชะลอออกไปเนื่องจากเมียนมาเพิ่งมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ อีกทั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมะริดขนาด 2,640 เมกะวัตต์ ที่บริษัทได้เคยลงนามข้อตกลงกับ Department of Hydropower Planning กระทรวงไฟฟ้า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อพัฒนาโครงการดังกล่าวเมื่อปี 57 นั้นหมดอายุลงแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ