นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) คาดว่ากำไรสุทธิปีนี้จะทำระดับสูงสุดใหม่ต่อเนื่องจากปีก่อนอีกครั้งที่มีกำไรสุทธิ 9.4 พันล้านบาท หลังมองกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันในปีนี้จะสูงกว่าระดับ 14 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีก่อน เนื่องจากได้รับประโยชน์จากโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (UHV) ของโรงกลั่นที่จะเริ่มเดินเครื่องในกลางเดือน พ.ค.นี้ รวมถึงการดำเนินโครงการ EVEREST เพื่อเพิ่มขีดความสามารถองค์กรในทุกด้าน และการเลื่อนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันครั้งใหญ่ออกไปเป็นช่วงไตรมาส 1/60 จากเดิมไตรมาส 4/59
"โครงการ EVEREST ในไตรมาสแรกทำได้แล้ว 243 ล้านบาททยอยรับรู้ไปเรื่อยๆ มีเป้าหมายว่าปีนี้จะสร้างมาร์จิ้นได้ 3,416 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 300 ล้านเหรียญฯ ต่อปี ในสิ้นปี 2018 จากโครงการนี้ ปีนี้ก็จะไม่มี shut down ใหญ่ที่เคย plan ไว้ไตรมาส 4 ไม่มีแล้วจะเลื่อนไปไตรมาส 1 ปีหน้า เราก็จะได้ benefit เต็ม ๆ จากโครงการ UHV ในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4...เป้าเรากำไรปีนี้ต้องดีกว่าปีที่แล้ว ปีที่แล้วเราก็ดีที่สุด ถ้าบอกว่าปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว ปีนี้ก็ต้องดีที่สุด"นายสุกฤตย์ กล่าว
นายสุกฤตย์ คาดว่า GIM ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันในปีนี้จะทำได้มากกว่าระดับ 14 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีที่แล้ว หลังโครงการ UHV เริ่มเดินเครื่องผลิตกลางเดือน พ.ค.นี้จะทำให้ส่วนของโรงกลั่นน้ำมันแข็งแรง และช่วยเพิ่มมาร์จิ้นได้อีกอย่างน้อย 1-2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากสามารถกลั่นน้ำมันได้มากขึ้น โดยคาดว่าในไตรมาส 2/59 จะกลั่นน้ำมันเฉลี่ยได้เพิ่มขึ้นจาก 1.87 แสนบาร์เรล/วันในไตรมาส 1/59 และทำให้ทั้งปีนี้จะกลั่นน้ำมันเฉลี่ย 1.9-2.0 แสนบาร์เรล/วัน จากระดับ 1.83 แสนบาร์เรล/วันในปีที่แล้ว
ขณะเดียวกันบริษัทยังได้เลื่อนแผนการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงกลั่นน้ำมันออกไปเป็นไตรมาส 1/60 จากเดิมที่จะหยุดในช่วงไตรมาส 4/59 เนื่องจากต้องการที่จะเดินเครื่องของโครงการ UHV ให้เต็มที่ก่อนแล้วจึงหยุดซ่อมบำรุงพร้อมกันในช่วงไตรมาสแรกปีหน้า ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนการดำเนินการได้ดีกว่า ซึ่งก็จะทำให้ทั้งปีนี้บริษัทได้รับประโยชน์จากโครงการ UHV ได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าส่วนต่าง (สเปรด) ของราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังปีนี้จะสูงกว่าครึ่งปีแรก เพราะเป็นช่วงฤดูการขับรถท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจปิโตรเคมีก็มีแนวโน้มที่ดีจากราคาผลิตภัณฑ์ที่จะทยอยขึ้นตามทิศทางของราคาน้ำมัน ที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนอกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (นอน-โอเปก) ผลิตน้ำมันออกมาในปริมาณที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มเห็นปริมาณผลิตที่ลดลงในปีหน้าก็อาจจะเกิดเร็วขึ้น และเหตุการก่อการร้ายในไนจีเรียด้วย ทำให้ปัจจุบันระดับราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นมาอยู่ที่กว่า 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเฉลี่ยในไตรมาส 1/59 ที่กว่า 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นายสุกฤตย์ กล่าวว่า หากราคาน้ำมันอยู่ในระดับนี้ต่อเนื่องทำให้มั่นใจได้ว่าในไตรมาส 2/59 จะมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน จากที่ในไตรมาสแรกมีขาดทุนจากสต็อกน้ำมันและขาดทุนจากการทำประกันความเสี่ยงรวมประมาณ 1.3 พันล้านบาท ขณะที่คาดว่าทิศทางของสถานการณ์น้ำมันดิบน่าจะเข้าสู่จุดสมดุลเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า ทำให้มีการกลับเข้ามาเก็งกำไรราคาน้ำมันดิบกันมากขึ้นในช่วงนี้
สำหรับสถานการณ์โรงกลั่นขณะนี้ ราคาเบนซินปรับลดลงมาค่อนข้างมากทำให้ค่าการกลั่น (GRM) ต่ำลง แต่ก็คาดว่าจะน่าจะดีขึ้นในระยะต่อไปเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูการขับขี่รถยนต์เพื่อการท่องเที่ยวในสหรัฐฯ ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อมาร์จิ้นด้วย ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี แนวโน้มในไตรมาส 2/59 สถานการณ์ราคายังดีอยู่แต่อาจจะอ่อนตัวลงในช่วงไตรมาส 3 เพราะจะมีปริมาณการผลิตใหม่เข้ามาจากตะวันออกกลางในช่วงไตรมาส 3 ส่วนโรงงานโพรพิลีนในจีนก็ทยอยแล้วเสร็จเข้าสู่ระบบต่อเนื่อง
นายสุกฤตย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้การดำเนินงานของบริษัทยังคงเป็นไปตามแผน โดยหลังจากโครงการ UHV เดินเครื่องแล้วก็จะทำให้การดำเนินงานของโรงกลั่นมีความแข็งแรงมากขึ้น ส่วนโครงการขยายกำลังการผลิตโพลีโพรพิลีน (PP) อีก 3 แสนตัน/ปีจะแล้วเสร็จในกลางปี 60 ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิต PP เพิ่มเป็น 7.75 แสนตัน/ปีนั้น ขณะนี้มีความคืบหน้าแล้ว 32% โดยทั้งโครงการจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 60 ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานของธุรกิจปิโตรเคมีแข็งแรง
เมื่อผลการดำเนินงานของบริษัทมีแนวโน้มที่ดีขึ้นก็จะทำให้มีกระแสเงินสดเข้ามา ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายจะนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้น และทยอยลดระยะเวลาการจ่ายค่าน้ำมันดิบกับ บมจ.ปตท. (PTT) เหลือ 60 วันจากปัจจุบันที่อยู่ 90 วัน โดยมีเป้าหมายจะลดเหลือ 30 วัน ซึ่งเป็นระดับปกติในปีหน้า คาดว่าจะช่วยทำให้อันดับเครดิตของบริษัทมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่า investment grade
ขณะที่ในปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้ราว 1 หมื่นล้านบาท และกู้เงินแบบใช้เงินกู้ร่วม (ซินดิเคทโลน) ราว 1 หมื่นล้านบาท เพื่อเตรียมใช้ชำระคืนหนี้ที่จะครบกำหนดราว 1.9 หมื่นล้านบาทในปี 60